เมื่อ “นิ่ว” ตามล่าตัวผม
ชเนษฎ์ ศรีสุโข bloggla.com
ใครที่เคยอ่านงานเขียนของผม “วันที่ผมป่วย(หูดับ)อีกครั้ง” คงคิดในใจว่านายชเนษฎ์แม้จะมาเรียนเป็นแพทย์ แต่ก็โรคประจำตัวเยอะเสียจริงนะ
ไล่ภาษาแพทย์ หลายโรคที่เป็นและเคยเป็น ได้แก่ IUGR, G6PD deficiency, meningitis, Meckel’s diverticulum, SNHL, atopic dermatitis, allergic rhinoconjunctivitis ฯลฯ
แปลเป็นไทย: ภาวะด้อยพัฒนาการในครรภ์มารดา, ภาวะเลือดเปราะจากการพร่องเอนไซม์ G6PD, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, โรคลำไส้เล็กส่วนปลายเน่า Meckel’s, โรคประสาทหูเสื่อม, โรคแพ้ทางผิวหนัง, โรคแพ้น้ำหูน้ำตาไหล ฯลฯ
ถ้าโรคเหล่านี้ เกิดขึ้นกับลูกใครคนใดคนหนึ่ง สงสัย มารดาของเขา คงจะเป็นลม…
แต่เอาเข้าจริง ทุกวันนี้ผมก็สุขภาพแข็งแรงดีอยู่มากครับ ได้ออกกำลังกายทุกวัน… จนกระทั่งล่าสุดนี้
ขณะที่ผมปฏิบัติงานอยู่โรงพยาบาลกบินทร์บุรีครับ โดยมีกำหนดเวลา 1 เดือน ที่นี่อาจารย์ รุ่นพี่ พี่พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกคนน่ารักมาก มีน้ำใจไมตรี และให้เกียรตินักศึกษาแพทย์ตัวเล็กๆอย่างผมมาก ด้วยบรรยากาศแบบต่างจังหวัดที่คนบ้านนอกอย่างผมคุ้นเคยสมัยเด็ก อาหารการกินอิ่มหนำสำราญ ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติหลายแห่ง ว่างๆเข้าตัวเมืองไปซื้อของได้ ชีวิตช่วงนี้เลยมีความสุขเป็นพิเศษ
แต่แล้ว วันเวลาแห่งความสุข ก็ถูกขัดขวาง…
ด้วย… อาการปวดหลังกระทันหัน ขณะกำลังอยู่คลินิกฝากครรภ์กับอาจารย์ หน้าซีดเขียว บอกพี่แพทย์ใช้ทุนว่าจะไปเข้าห้องน้ำ เขาคงคิดว่าเราหน้าซีดปวดอุจจาระ…
อาการปวดบีบๆ ปวดหลังซ้าย ร้าวลงบริเวณอัณฑะ ไปนั่งในห้องน้ำได้สักพักจนหน้าหายเขียวก็กลับไปปฏิบัติงานต่อ
เป็นเช่นนี้ ได้สักสามวัน มีอาการวันละหลายครั้ง ทรมานมาก วันที่สาม อาการปวดตอนเช้า นอนบิดไปมาบนเตียงจนทนไม่ไหว เลยไปห้องฉุกเฉิน
อาการที่เล่ามานี้ เป็นอาการแสดงของโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะน่ะครับ หรือภาษาอังกฤษอาจใช้ว่า ureteric colic มักเกิดขึ้นในคนอายุไม่มาก ช่วงวัยกลางคน (ผมยังอายุไม่ถึงวัยกลางคนนะครับ)
มาถึง รับการตรวจปัสสาวะ ปกติเห็นปัสสาวะสีเหลืองๆดี ใครจะรู้ว่ามีเม็ดเลือดแดงปน แบบมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เรียกว่า microscopic hematuria ครับ โดยเม็ดเลือดขาวที่ปนมาในปัสสาวะอยู่ในเกณฑ์ปกติ (หากเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะมาก แสดงถึงการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะร่วมด้วย) ปัสสาวะก็ไม่ได้เข้มข้นมากหรือมีตะกอนแปลกปลอมอื่นๆ
ทำการ Imaging (หรือสืบค้นภาพ) เพื่อการวินิจฉัยเพิ่มเติม ก็ได้อัลตราซาวน์ไต และทำการฟิล์มไต ก็พบจุดขาวๆ อยู่หลายก้อนในไตทั้งสองข้างและในทางเดินปัสสาวะ บางส่วนหลุดลงมาติดตรงบริเวณรอยต่อระหว่างทางเดินปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ(uretero-vesicular junction หรือ UVJ) การที่ก้อนบางส่วนมาติดบริวณนี้ เป็นสาเหตุทำให้ปวดนั่นเองครับ
เจาะเลือดดูค่าการทำงานของไตและกรดยูริคไว้เป็นบรรทัดฐาน ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติดี
สรุปว่า ผมเป็น “นิ่ว” ครับ
แต่ด้วยขนาดของนิ่วไม่ใหญ่มาก เฉลี่ยประมาณ 5มิลลิเมตร การรักษาจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคอง รับยาแก้ปวดทั้งฉีดเข้าเส้น เข้ากล้ามเนื้อ ทั้งรับประทานเป็นกองทัพ
ชีวิตจริงทางการแพทย์คือ วันที่ปวดนั้น ต้องปฏิบัติงานห้องฉุกเฉินไปด้วย ทนปวดด้วย ช่วยพี่แพทย์ใช้ทุนตรวจคนไข้ด้วย คนไข้คงสงสัยทำไมหมอหน้าซีดๆนะครับ และก็ได้เข้าออกห้องฉุกเฉินเพื่อรับยาทางกระแสเลือดและทางกล้ามเนื้อบรรเทาปวดอีกหลายครั้งครับ…
โรคนิ่ว มีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดครับ ตัวผมเองคงเป็นเรื่องโรคประจำตัว G6PD deficiency โรคเลือดแตกง่าย ทำให้สารในเลือดบางตัวก่อตัวเป็นนิ่วได้ง่ายกว่าคนปกติ (รวมทั้งต้องระวังโรคนิ่วในถุงน้ำดีด้วย) นอกจากนี้พฤติกรรมส่วนตัว การรับประทานแร่ธาตุมาก นิยมน้ำแร่(ราคาไม่แพงหาได้ตามร้านสะดวกซื้อ) ทานมาหลายปี ร่วมกับแคลเซียมเม็ดบำรุงทุกสัปดาห์(วัยรุ่นสมัยนี้คงเริ่มรับประทานกันตามคลิปพี่โดมกินวิตามิน และเชื่อว่าพี่โดมมีโอกาสเป็นนิ่วเหมือนกันครับ)
นิ่วในทางเดินปัสสาวะที่พบมีหลายประเภทมากมาย แบ่งตามส่วนประกอบของนิ่ว ซึ่งไม่ขอจำแนกรายละเอียดนะครับ มักมีหลายสาเหตุร่วม เช่น การรับประทานน้ำน้อย(ปัสสาวะข้น) การทานเค็มมาก ทานโปรตีนมาก ทานแคลเซียมมากเกินไป หรือยอดหรือในยาบางอย่าง เช่นยาลดกรด
การทานเครื่องในสัตว์,สาหร่าย หรือยอดผักมาก ทำให้กรดยูริคสูง เสี่ยงเป็นนิ่วยูริค
การทานผักพวกหน่อไม้, ชะพลู, ผักโขม, ฟักแม้ว มีสารออกซาเลทสูง เสี่ยงเกิดนิ่วออกซาเลทได้มาก
การทานวิตามินบางอย่างมาก หรือน้อยเกินไป เสี่ยงเป็นนิ่วได้…
บิดาของผมเอง (ศัลยแพทย์) ก็เคยเป็นนิ่วครับ ลูกที่พ่อแม่เป็นโรคนิ่ว ก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนิ่วเช่นเดียวกันได้
ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ในต่างจังหวัดพบว่าผู้เป็นนิ่วจำนวนมากให้ประวัติดื่มน้ำบาดาลที่มีตะกอนตั้งแต่อายุน้อย และประชาชนในภาคอีสานและเหนือเป็นโรคนิ่วมากกว่าภาคอื่นๆ ผู้ทำงานในที่ร้อน เสียน้ำมาก มีโอกาสเป็นนิ่วมากกว่า ผู้ดีหรือคนกรุงที่ชอบทานอาหารไขมัน โปรตีน แป้งมาก ทานผักน้อย ก็เสี่ยงเป็นนิ่วมาก
ฤดูร้อนพบผู้ป่วยมากกว่าฤดูหนาว (เสียเหงื่อ เสียน้ำมาก ปัสสาวะเข้มข้น)
โรคนิ่วพบมากในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงครับ โอย…
การรักษานิ่วนั้น ถ้าขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร มักหลุดมาภายนอกได้เอง หากมากกว่านั้น พิจารณาการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่นเครื่องส่องท่อไตไปคีบออกมา การใช้คลื่นเสียงหรือเลเซอร์สลายนิ่ว การใช้วิธีขบออก การผ่าตัด ฯลฯ
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้และควรระวังมากคือการอักเสบแทรกซ้อนของไต-กรวยไต การติดเชื้อในกระแสเลือด และหากเป็นนิ่วอุดตันทางเดินปัสสาวะทั้งสองข้างอาจทำให้เกิดภาวะไตวายฉับพลัน ล้วนแต่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ทั้งสิ้น
สุดท้ายนี้ คงต้องบอกว่านิ่วในทางเดินปัสสาวะ สัมพันธ์กับเรื่องโภชนาการซะมาก อยากให้ผู้อ่านทุกคนระมัดระวังตนในการรับประทานอาหารนะครับ ต้องเดินทางสายกลางล่ะครับ ไม่บริโภคสิ่งใดมาก หรือน้อยจนเกินไป จะเป็นภัยแก่ตนครับ