เมื่อมหิดลวิทย์ถูกเผา
ชเนษฎ์ ศรีสุโข มหิดลวิทย์รุ่น12 bloggla.com
ฉันรักมหิดลวิทย์ เพราะมหิดลวิทย์สอนให้ฉันรักวิทยาศาสตร์ และรักษ์ประเทศไทย
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ก่อตั้งมายี่สิบปี โดยเฉพาะในช่วงไม่ถึงสิบปีหลังที่ทีมคณาจารย์และผู้บริหารในวงการศึกษาไทยได้แท็กทีมมาบริหารจัดการ(นำโดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร, ดร.ธงชัย ชิวปรีชา, ดร.โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ ฯลฯ)ยกระดับโรงเรียนเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ องค์กรมหาชนที่รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตลอดจนพระมหากรุณาธิคุณ
รับนักเรียนเข้าศึกษาระดับมัธยมปลาย ปีละ 240 คน เปี่ยมคุณภาพ ไร้เส้นสาย ลูกคนใหญ่คนโตฝากฝังมาก็เข้าไม่ได้ เป็นโรงเรียนประจำนักเรียนทุน 44,000บาท/ปี การสอบคัดเลือกเข้าจากทั่วประเทศ ทุกวันนี้แก่งแย่งแข่งขันกันมาก
การเรียนของโรงเรียนนี้ไม่เหมือนใคร และไม่แข่งกับโรงเรียนไหน วิสัยทัศน์ผู้บริหารคือ “ทำอย่างไร ให้โรงเรียนในไทยร่วมมือกัน ผลิตนักเรียนคุณภาพที่จะทำให้ชาติเราทัดเทียมอารยประเทศได้” เป็นการมองการณ์ไกลเหนือกว่าความยึดติดในสถาบันที่มีมากในสังคมปัจจุบัน เป็นการสร้างโรงเรียนเฉพาะทางหัวกะทิ ต้นแบบเพื่อการปฏิรูปประเทศ คล้ายโรงเรียนในต่างประเทศ เช่นที่ฝรั่งเศส หรืออังกฤษ ซึ่งเริ่มต้นจากด้านวิทยาศาสตร์ การสร้างองค์ความรู้ และแนวโน้มขยายความร่วมมือต่อยอดโรงเรียนผู้นำทางสังคม เศรษฐศาสตร์ การเมือง ในอนาคต
ปัจจุบัน มีการเรียนที่ลงลึกด้านวิทยาศาสตร์ และสนับสนุนการคิดค้น วิจัย จดสิทธิบัตร สร้างองค์ความรู้ของไทยเอง สร้างผลิตภัณฑ์ ที่ลดการพึ่งพาต่างชาติ ปกติเราเป็นวัตถุนิยมที่เสียเงินค่าลิขสิทธิ์ ค่าปัญญา ให้ต่างชาติโดยตลอด ทั้งนาฬิกา มือถือ โทรทัศน์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ คอมพิวเตอร์ ล้วนเสียเงินให้ต่างชาติทั้งสิ้น ทำอย่างไรจะลดเงินไหลออกจากประเทศได้ ทางออกคือสร้างนวัตกรรม สร้างองค์ความรู้ที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศชาติ ถ้าเป็นหมอ ก็เป็นหมอวิจัยคิดค้นวิธีการรักษา หรือยาที่สร้างรายได้ให้คนไทย อีกทั้งภูมิปัญญาชาวบ้านอันมีมากมายไม่แพ้ใครในโลก ไม่เสียเงินให้บริษัทยายักษ์ใหญ่ข้ามชาติมากเกินควร ถ้าเป็นวิศวะ ก็คิดนวัตกรรมใหม่ที่สร้างสรร เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ และสร้างรายได้มหาศาล และ นักวิทยาศาสตร์นักวิชาการสายตรงที่ทุ่มเทอุทิศ ผลิตทั้งองค์ความรู้ และต่อยอดสอนคน สร้างคน เพิ่มคุณภาพประชากรต่อไปในอนาคต ดร.ธงชัย ชิวปรีชา พูดเสมอว่า “Made by Thai technology” คือสร้างชาติด้วยภูมิปัญญาคนไทย มิใช่ สร้างในไทยแต่ Made by Jap. Tech. แล้วส่งเงินให้พี่ยุ่นจนหมด
แนวคิดและการปลูกฝังของโรงเรียนนี้ เน้นการสร้างจิตสาธารณะ นอกจากวิชาการที่เข้มข้นแต่เรียนแบบไม่เคร่งเครียด มีคลินิกวิชาการและทรัพยากรสนับสนุนให้พัฒนาศักยภาพตนเองได้ตามสายที่ตนเองชอบแล้ว นักเรียนทุกคนต้องทำกิจกรรมเชิงพัฒนาตามกำหนดขั้นต่ำ ได้แก่ ออกค่ายปฏิบัติธรรม, ดูงานและฝึกงานด้าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี สังคมศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและโบราณคดี คุณธรรม จริยธรรม, ฟังบรรยายด้านต่างๆที่กล่าวมาจากผู้บรรยายระดับนานาชาติ , บำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม, เข้าค่ายวิชาการ, ร่วมกิจกรรมชุมนุม, การออกกำลังกายซึ่งกำหนดให้ออกทุกวันๆละ 45 นาที กล่าวคือสร้างนักเรียนที่เข้มแข็ง เป็นยอดมนุษย์ทั้งกาย ทั้งจิตใจ ไม่แปลกนักเรียนที่จบมาจะเป็นนักกิจกรรมทางสังคม บำเพ็ญประโยชน์ทั้งในมหาวิทยาลัย และชุมชนต่างๆ
ขออนุญาตเท้าความคร่าวๆ ขั้นต้น เพราะนำเข้าสู่ประเด็นข่าวร้อนที่เกิดขึ้น นักเรียนท่านหนึ่งได้จุดไฟเผาอาคารวิทยบริการ มูลค่าไม่ต่ำกว่าสามร้อยล้าน หนังสือtextbooksอย่างดี คอมพิวเตอร์ server อุปกรณ์ดาราศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆถูกเผาไหม้วอดหมด
ในฐานะที่ผมเป็นศิษย์เก่าที่กลับไปร่วมกิจกรรมกับทางโรงเรียนหลายครั้ง เห็นชัดต่อเหตุการณ์นี้ว่าเป็นความสูญเสียของชาวมหิดลวิทย์ทั้งหมด ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร จนถึงนักเรียน ที่สูญเสียทรัพยากรสำคัญในการค้นคว้าหาความรู้ สูญเสียสถานที่ สูญเสียความรู้สึก
ความเจ็บปวดของคนในเองก็มากพออยู่แล้ว แต่ความเจ็บปวดที่มากกว่าคือ สื่อมวลชนบางส่วน และคนบางจำพวกที่หาประโยชน์จากข่าวความเสียหายของโรงเรียน ข้อมูลผิดๆที่หาว่าโรงเรียนผลิตเด็กที่คุณภาพทางอารมณ์ต่ำ หาว่าเรียนคร่ำเครียดเกินไป อาจารย์กดดันเด็กมากไป ไร้คุณธรรม จนไปถึงการพยายามโยงเข้าสู่ปมความขัดแย้งทางการเมือง ฯลฯ
บทความนี้อยากจะส่งข้อความว่า การสูญเสียครั้งนี้ สังคมก็สูญเสีย สูญเสียโอกาสในการสร้างคน สร้างชาติ ถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับโรงเรียนหรือบ้านอันเป็นที่รักของใคร ก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน
อย่างไรก็ตามทั้งวิกฤตโดนเผาและวิกฤตสื่อ ทำให้ผมและศิษย์เก่าจำนวนมากได้ตระหนักชัดเจนขึ้นอีกว่า “นี่คือเหตุผลว่าทำไมต้องมีมหิดลวิทย์” ต้องมีมหิดลวิทย์เพื่อการสร้างความร่วมมือกับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยอื่นในอนาคต เพื่อสร้างคน สร้างปัญญา นำสังคมให้ใช้กระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ ในทางสร้างสรรค์ คือก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นควรตั้งสมมติฐาน หาข้อมูล คิดวิเคราะห์แยกแยะ และตอบปัญหาตัวเองให้ได้เสียก่อน ว่าจะซ้ำเติมเหตุการณ์ ซ้ำเติมผู้ก่อการ หรือจะคิดหาวิธีสร้างสรร เยียวยา ป้องกัน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในสถานที่อื่นๆอีก
ชาวมหิดลวิทย์คงเสียใจ แต่ไม่ท้อแท้ คงล้มและลุกขึ้นใหม่ การสร้างชาติต่อไปที่แท้จริง ไม่ใช่การสร้างชาติด้วยปากอย่างที่หลายคนชอบทำกันในสภา นักวิชาการผู้อวดรู้ นายทุนเพื่อพวกตัวเอง หรือสร้างชาติด้วยการวางเพลิง
แต่เป็นการสร้างชาติด้วยผลงาน สร้างชาติด้วยการกระทำ… Actions speak louder than words.
หมายเหตุ
ตัวอย่างผลงานที่สำเร็จตามเป้าหมายส่วนหนึ่งของโรงเรียน นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันต่าง ๆ ระดับชาติและระดับนานาชาติ, ผ่านการคัดเลือกรอบแรก โครงการ สอวน. มากกว่า 100 คน ต่อปี, เป็นตัวแทนโอลิมปิก วิชาการสาขาต่าง ๆ ระดับนานาชาติ
ผลงานที่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ผลสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานในหลายปีที่ผ่านมาติดอันดับหนึ่ง, นักเรียนจำนวนมากศึกษาต่อในต่างประเทศโดยทุนเกียรติยศระดับชาติ ระดับนานาชาติ
ตัวอย่างเป้าหมายของโรงเรียนในอนาคต จบปริญญาเอกจำนวนมากกว่า 30%, เป็นโรงเรียนที่จัดกิจกรรมการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถ พิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีระดับมัธยมศึกษาตอนปลายให้มีความสามารถระดับมาตรฐาน โลก (World Class)
มันเด่นมากเลยพูดก่อน "และรักษ์ประเทศไทย" ไม่น่าจะมี ษ์
รักอย่างเดียวไม่พอ รักด้วยการกระทำสิจึงควรรักษ์ = รักษาไง