เตือนใจตน เมษารำลึก
บทความนี้ได้รับเกียรติตีพิมพ์ลงวารสาร demo-crazy.com ฉบับที่ 17 หน้า 29 เดือน มีค-เมย 53
ชเนษฎ์ ศรีสุโข
มีคนบอกคนไทยลืมง่าย เราชอบลืมประวัติศาสตร์ เราไม่เรียนรู้จากประวัติศาสตร์…
ทุกวันนี้ คงไม่นับถึงเหตุการณ์ ตุลา14, 16 หรือ พฤษภา 35 แม้แต่เหตุการณ์ 7 ตุลาคม ที่ผู้ชุมนุมถูกตำรวจสลายการชุมนุมด้วยวิธีผิดสากล จนสูญเสียอวัยวะ บาดเจ็บ สูญสิ้นชีวิตกันไปมาก เหตุการณ์นี้คนจำนวนมากเริ่มไม่รำลึกถึงแล้ว และเชื่อว่าในอีกแต่ละปีที่ผ่านไป ผู้คนจะลืมเลือนกันไปมากขึ้น เหมือนงานตุลารำลึก ที่สุดท้ายเหลือเพียง “ญาติวีรชน” มากระทำพิธีรำลึกกันเท่านั้น
การตายของวีรบุรุษ วีรสตรีในอดีต เป็นการสูญเปล่า? หรือเป็นแค่เงื่อนไขปลดล็อกเหตุการณ์ทางการเมืองเฉพาะครั้งๆไป? การสูญเสียบุคคลเหล่านั้น เนื่องจากไม่ใช่คนในครอบครัว ลูกหลาน ของใครหลายคน คนจึงลืมไป
แรงบันดาลใจคนหนุ่มสาวในอดีต “จิตร ภูมิศักดิ์” มีชื่อแต่ในหนังสือจำนวนมากที่คนหนุ่มสาวปัจจุบันไม่ได้อ่านกัน ลองถามวัยหนุ่มสาวสมัยนี้ แม้แต่ “ปัญญาชนสยาม”, “สิงห์สนามหลวง” โดยไม่ต้องนับชื่อจริง คนหนุ่มสาวไม่รู้จักครับ ถ้าพูดถึงเสื้อเหลือง หนุ่มสาวทั่วไปคิดถึงสนธิ จำลอง ถ้าพูดถึงเสื้อแดง คนนึกถึงทักษิณ แล้วแนวร่วมทั้งหลายจะเหลือไหมครับ คนไม่รู้จักเลย ถ้าพูดถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยของผม วัยหนุ่มสาวรู้จัก “วีรบุรุษพฤษภาทมิฬ” กันน้อยกว่าดาราเดอะสตาร์ที่ผ่านมาแล้วผ่านไปในวงการโทรทัศน์
เป็นความจริง ที่ผู้ใหญ่หลายคนอาจรับไม่ได้ หลงลืมไปเช่นกัน ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราหลายคนจึงหลงว่าตนเองเคยทำดี ทำความยิ่งใหญ่มามากแล้ว เช่นศิลปิน “เพื่อชีวิตตรู” ขาย “บาวบาว” จนลืมนึกไปว่า คนจะดีจริง “ต้องทำดีให้ตลอดชีวิต” มิใช่แอบอ้างประวัติสวยหรูที่ใครก็เขียนอย่างไรก็ได้แต่ไม่เห็นรูปธรรมความสำเร็จในปัจจุบัน (ยกเว้นความสำเร็จบนกระดานหุ้นจากธุรกิจส่วนตน)
ผู้ใหญ่หลายท่าน เห็นสัจจธรรมของโลกแล้วบอกว่า ทุกสิ่งไม่เที่ยง โลกธรรม8 มีชื่อเสียง มีเสื่อมชื่อเสียงได้เป็นธรรมดา…
แต่เอาเข้าจริง ผมเองก็รู้สึกว่าไม่ถูกต้องนัก(ต้องบันทึกไว้ ณ วันนี้ ว่ายังเป็นหนึ่งในคนหนุ่มสาวที่เชื่อแบบนั้น) ไม่ใช่หลักโลกธรรม8ไม่ถูกต้องนะครับ แต่การอ้างหลักธรรมเพื่อที่จะ “ไม่ทำอะไร” นั้นเท่ากับปล่อยให้คนอื่นในสังคมทำให้สังคมดำเนินไปตามสภาวะกรรม ซึ่งต่างจาก “อริยสงฆ์” ที่สร้างผู้กระจ่างแจ้งมากขึ้น ผู้กระจ่างแจ้งทั้งหลายไม่ยึดหลักความเป็นกลางที่หมายถึงการไม่ทำอะไรเลย แต่ยึดการทำกรรมดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์
การเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้น ล้วนเป็นหน้าที่ของสมาชิกในสังคมทุกคน ดังนั้น การที่จะหยุดทำดี หรือเพียงใช้ชีวิตด้วยการหายใจทิ้งไป และเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นเพียงวันเดียว อาจเป็นการ “ทำผิดต่อหน้าที่ตนเอง”
ผมยังบ่นเสมอ ว่า หลายคนที่ชอบด่าว่า วิพากษ์ วิจารณ์ผู้อื่นนั้น หากการวิจารณ์ในสิ่งที่ตนเองไม่ได้มีส่วนกระทำอะไรให้ดีขึ้น อาทิเช่น นักวิชาการที่บอกว่าสังคมเน่าเฟะ การเมืองวุ่นวาย แต่ตนเองไม่เคยเลือกตั้ง, คนที่คิดว่าทุกคนผิดหมด และวิจารณ์ทางอินเตอร์เน็ท แต่ตนเองไม่เคยออกมาชมโลกภายนอกและตระหนักว่าแม้แต่ตนเองก็ยังไม่รู้จักว่าตนเองมีความบกพร่องที่ใด, อีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้าพูดถึงเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ผู้ป่วยบางคนป่วยเรื้อรังต้องมาโรงพยาบาลบ่อย แต่ตนเองอาจไม่เคยป้องกันดูแลชีวิต สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า พักผ่อนน้อยทุกวัน, ฯลฯ
ผมเขียนบทความนี้เพื่อเตือนตนเองครับ…
เดือนเมษายนปีที่แล้ว มีผู้ถูกยิงเสียชีวิต ทุกวันนี้ผมเองยังลืมว่าเขาชื่ออะไร รถเมล์ถูกเผา สถานที่สำคัญถูกบุกรุก เป็นวิกฤตการณ์ในทางลบ ผมจำรายละเอียดได้น้อยลง สามสี่ปีก่อนหน้านี้ อีกกลุ่มคนชุมนุม ถูกรังแก ยิงถล่มดับ กลั่นแกล้งสารพัด ผมก็เริ่มลืมรายละเอียด แล้วมาดูรายละเอียดกันจริงๆ เหตุการณ์ทั้งหลายล้วนเกี่ยวพันและมีรากฐานเหตุปัจจัยมาหลายสิบปี ผู้ใหญ่ทุกวันนี้ในหลายวงการก็ล้วนเป็นนักกิจกรรมและนักบำเพ็ญประโยชน์ที่เคยผ่านเหตุการณ์ร้ายๆมาในอดีต แต่น่าแปลกใจทำไมทุกวันนี้การสนับสนุนชนรุ่นหลังจึงลดน้อยลง แล้วมีแต่คำวิพากษ์วิจารณ์ด่าทอความล่มสลายทางวัฒนธรรมของวัยหนุ่มสาว
ผมเขียนแล้ว นั่งทบทวนตนเอง พบว่า “หากเราไม่เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ เราก็ไม่มีอาจมีอนาคตอันดีได้”
*หมายเหตุ หากใครอยากร่วมรำลึกสิ่งที่ได้จากวิกฤตหลายปีที่ผ่านมานี้ เขียนมาคุยกันได้ครับ chanesd@gmail.com
albert
เข้ามาอ่านนะครับ