บทความนี้ลง demo-crazy.com วารสารรายเดือน ฉบับธันวาคม 2552
แพทย์สอนคุณธรรมกันหรือไม่ และเรื่องทุจริตในกระทรวงเกรดเอ(2)
ชเนษฎ์ ศรีสุโข นักศึกษาแพทย์ [Chanesd@gmail.com]
ตอนที่แล้วกล่าวกันไปถึงเรื่องการสอนคุณธรรมในวงการแพทย์ ตอนนี้มาพูดถึงเรื่องทุจริตกันบ้างครับ
หลายเดือนก่อนผมได้ไปออกรายการมองมุมใหม่ ทางทีวีไทยครับ ผู้จัดรายการต้องการพูดคุยถึงเรื่องปัญหาทุจริตโครงการไทยเข้มแข็ง โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข
มีหลายคนสงสัยถึงเรื่องการทุจริตในกระทรวงนี้มาก กระทรวงของหมอ ของบุคลากรทางการแพทย์ มักถูกนักการเมืองชอบเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ครับ จะเห็นได้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานกันหงกๆ หนักหนาสาหัส กลับต้องถูกคนที่เรียนมาไม่ได้มากกว่า แต่ฉลาดแกมโกงกว่า พร้อมคุณธรรมน้อยกว่ามาก เข้ามาทุจริตกันอย่างสนุกสนาน จนจัดว่ากระทรวงนี้คือกระทรวงเกรดเอ ไว้แบ่งเค้กกันในคณะรัฐมนตรี ไม่แปลกใจใช่ไหมครับว่าทำไมรัฐมนตรีหลายท่านที่ไม่ได้เป็นทั้งบุคลากรทางการแพทย์หรือเชี่ยวชาญมีความเข้าใจในระบบสาธารณสุขเลย แต่ก็เข้ามาเป็นใหญ่ เป็นเจ้ากระทรวงนี้ได้
ระบบการทุจริตโดยรวมที่ได้เห็นมา ไม่ต่างจากการทุจริตเชิงระบบราชการ ในหลายกระทรวง เกิดจากความร่วมมือระหว่างนักการเมืองและข้าราชการที่เห็นแก่ตัว ไม่ละอายต่อการทำให้ประเทศชาติและผู้อื่นเดือดร้อน
การทุจริตมีวิวัฒนาการครับ ในสมัยก่อนการทุจริตแบบตรงไปตรงมา เช่น การลงตัวเลขงบประมาณสูงกว่าเงินที่สั่งซื้อจริง คอยสวาปามส่วนต่าง ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ การทุจริตที่มีมานานอีกอย่างหนึ่ง คือ เรื่องการขอเปอร์เซ็นต์จากบริษัทเอกชนที่มารับงานของรัฐบาล เช่น การประมูลจัดสร้างอาคารทั้งโรงพยาบาล 200ล้านบาท บริษัทที่ได้ประมูลต้องจ่ายใต้โต๊ะ 10% ให้ผู้อำนวยการ รวมทั้งออกมาประกาศว่าผู้อำนวยการได้บริจาคเงิน2ล้านร่วมสร้างตึก กล่าวคือเบื้องลึกเป็นการคอรัปชัน แต่คนทั่วไปอาจคิดว่าผู้อำนวยการใจบุญศุนทาน ช่วยบริจาคเงินสร้างอาคารด้วยซ้ำไป
การทุจริตต่อมาที่แนบเนียนขึ้น เช่น จากส่วนกลาง การจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ ให้แก่โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งไม่ได้ต้องการสิ่งต่างๆเหล่านั้นเลย อาทิเช่น เครื่องฆ่าเชื้อด้วยรังสีUV เครื่องทำฟัน เครื่องเอ็กซเรย์ ให้แก่โรงพยาบาลที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือมีเพียงพออยู่แล้ว เหล่านี้ที่บอกว่าแนบเนียนคือรู้เห็นเป็นใจกันตั้งแต่ตัวใหญ่จนถึงตัวเล็กในขณะที่ข้าราชการทั่วไปก็วิจารณ์กันระงม
การจ่ายใต้โต๊ะก็มีมาตลอด อาทิบริษัทยาที่อยากให้ยาของตนเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อที่รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินจำนวนมากให้โรงพยาบาลทุกแห่งซื้อใช้กัน บริษัทเหล่านี้ก็มีเงินส่วนหนึ่งไว้คอยซื้อข้าราชการและนักการเมืองที่เกี่ยวข้องช่วยผลักดันให้ยาตนเองเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ นี่ก็ตัวอย่างผลประโยชน์ด้านธุรกิจ ที่อาจทำให้เงินแผ่นดินจากภาษีประชาชนต้องเสียไปมากขึ้นให้กับบริษัทยาที่ไม่กระทำการสุจริต
และยุคที่มีการประมูล การล็อคสเป็ก ให้บริษัทที่มีประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่ มีตั้งแต่การจ้างคนไปขัดขวาง ข่มขู่ บริษัทที่มาแข่งขันร่วมกัน หรือการซื้อตัวคณะกรรมการจัดตั้งสเป็ก การตรวจสอบทุจริตจากฝั่งที่บริษัทผู้เสียผลประโยชน์สนับสนุน ฯลฯ ผสมผสานกัน และเรื่องที่ยากๆ เช่น เรื่องหุ้น ที่เข้าใจยาก การทุจริตเชิงนโยบายเหล่านี้ เป็นการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายก่อกรรมทำชั่ว นั่นเอง
ทุกวัน การกระทำชั่ว กระทำเรื่องทุจริตได้ตลบตะแลง หลายเรื่อง ประชาชนทั่วไปตามไม่ทัน
การทุจริตเหล่านี้มักเป็นระบบชนชั้น หรือเป็นทอดๆ เป็นขั้นๆ หัวเรือใหญ่มักทราบ โดยอาจมีส่วนร่วมกับเขาด้วยหรือไม่ก็ได้ ข้าราชการรับประทานเป็นทอดๆ เขาอ้างว่ามิเช่นนั้นเขาก็อยู่ไม่ได้ เป็นเรื่องน่าแปลกว่าการทุจริตมักไม่ค่อยมีคนค้านในตอนแรกเริ่มเพราะกลัวเสียหน้าที่การงานจะมีค่อยมาคัดค้านตั้งคณะกรรมการตรวจสอบในภายหลัง การล็อบบี้ประสานงานจากฝ่ายการเมืองและข้าราชการผู้ใหญ่ทำให้ ตัวทุจริตตัวใหญ่ๆรอดพ้น ได้แต่จับตัวเล็กๆที่รับใช้คนกระทำผิด คงเปรียบเทียบได้กับคำพูดที่ว่า “คุก(ความผิด)มีไว้ขังคนจน ส่วนคนรวย คนมีอำนาจ ก็รอดพ้นไปได้”
ที่กล่าวมาเป็นแค่การทุจริตเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น หากท่านผู้อ่านอยากทราบเบื้องลึก รายละเอียดมากขึ้น สามารถหาอ่านได้จากหนังสือ และบทความของ ชมรมแพทย์ชนบท ที่แฉการทุจริตในกระทรวงสาธารณสุขครับ
เมื่อทราบความเป็นจริงแล้ว เราควรมองโลกในแง่ดีสู่การร่วมใจกันขจัดเรื่องแย่ๆเหล่านี้ให้หมดไปจากแผ่นดิน รัฐบาลปัจจุบัน แม้จะมีปัญหาทุจริต แต่ก็ลดลงไปมากกว่ารัฐบาลก่อนๆ การตรวจสอบจากภาคประชาชนที่เข้มแข็งมากขึ้น และการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน เช่นกรณีอาจารย์แพทย์เกรียงศักดิ์และชมรมแพทย์ชนบทออกมาแฉข้อมูลให้ประชาชนรับรู้ก่อน แม้ผมไม่ได้รู้จักเบื้องลึกเบื้องหลังท่าน แต่จัดเป็นการกระทำที่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม และทำให้พวกคนชั่วสวาปามได้ลำบากขึ้น
ทุกคนควรสร้างจิตสำนึกเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และการไม่ทุจริต ให้เกิดขึ้น เริ่มจากตนเอง ถ้าในระดับนักศึกษา คือไม่ทุจริตลอกการบ้าน ลอกข้อสอบ เพราะสุดท้ายเราก็จะไม่ได้ความรู้อะไรไปประกอบอาชีพ ไม่ลักเล็กขโมยน้อยผู้อื่น ฯลฯ ไม่เห็นเงินมีค่ามากกว่าความเป็นคน สู่ในระดับครอบครัว การสั่งสอนและความร่วมมือ การมีมาตรการทางสังคมในการบอยคอทผู้กระทำทุจริต หมู่บ้าน ชุมชน สังคม ประณามคนกระทำทุจริตไปถึงชั่วลูกชั่วหลาน และประเทศชาติ หากประชาชนทุกคนมีจิตสำนึก มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ที่จะต่อสู้จัดการกับคนที่พยายามทุจริตแบบทันทีทันใด คือเมื่อเห็นคนทำทุจริต ต้องกล้าด่ากล้าประณามกล้าเปิดโปงกล้าวิพากษ์วิจารณ์ (อย่างมีปัญญา และฉลาดรอบคอบ) หากเราอยากได้ประเทศชาติที่ดีขึ้น โปร่งใส ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น เราก็ต้องเริ่มต้นทำกันเอง จะไปรอรัฐบาลไหนมาทำให้คงไม่มีวันหรอกครับ
ดังคำกล่าว พระมหา ว. วชิรเมธี ที่ท่านว่า การจะเปลี่ยนแปลงประเทศ อย่าหวังคนที่อยู่ในสภา แต่ควร “เริ่มต้นที่ตัวทุกคนเอง”