แพทย์สอนคุณธรรมกันหรือไม่ และเรื่องทุจริตในกระทรวงเกรดเอ(1)
ตีพิมพ์ในวารสารปฏิวัติความคิด ติดอาวุธปัญญา www.demo-crazy.com ฉบับ13 เดือนพฤศจิกายน2552
ชเนษฎ์ ศรีสุโข นักศึกษาแพทย์ ม.รังสิต-รพ.ราชวิถี [Chanesd@gmail.com]
ท่ามกลางความเสื่อมจนถึงจุดที่สุดของกาลสมัย กิเลสและความไม่รู้(อวิชชา)นำไปสู่วงจรอุบาทว์ที่ไม่มีจบสิ้น ธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่หลายคนสนใจและอยากเข้าใจกฎเกณฑ์ใดใด การไม่ใส่ใจความจริง และธรรมะ นำไปสู่การกระทำที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและตนเองเวียนว่ายอยู่ในทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น
ความเสื่อมที่กล่าวไว้นั้น บุคคลหลายหมู่ได้ให้ความสนใจกับวิชาชีพแพทย์มากเป็นพิเศษ มีคนเคยบอกผมว่า ที่มีข่าวไม่ค่อยดีเกี่ยวกับวงการแพทย์อยู่บ่อยครั้งนั้น เกิดจากการที่แพทย์ขาดคุณธรรม ทั้งที่เป็นอาชีพที่มีรายได้สูงมากเหนือคนทั่วไป เขาถามคำถามหนึ่งซึ่งบุคคลในวงการแพทย์อาจไม่ค่อยพอใจเท่าไร ว่า “แพทย์เคยมีการสอนเรื่องคุณธรรมกันหรือไม่”
ผมควรหาคำตอบมาให้ ซึ่งหากตอบทางธรรมอาจถูกหาว่าเล่นลิ้น จึงเรียนตอบคำถามมิตรสหายคนดังกล่าวมาในบทความนี้ครับ
ผมได้นั่งพิจารณาระบบแพทยศาสตร์ศึกษาทั้งในของสถาบันตนเอง การค้นคว้าหาข้อมูลของสถาบันอื่นๆในหลายที่ที่เข้มแข็ง หลายที่อายุมาก หลายที่อายุน้อย กระแสของวงการแพทย์ รวมถึงแพทยสภาและองค์กรที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน ได้ส่งเสริมด้านคุณธรรม จริยธรรมในการเรียนแพทย์มาก
โดยมิใช่ว่าเพิ่งมาส่งเสริมกันในระยะหลัง จากข้อมูลอาจารย์แพทย์อาวุโสหลายท่าน ในสมัยก่อนการเรียนการสอนแพทย์ เน้นเรื่องคุณธรรม จริยธรรม เป็นอย่างมาก และค่อนข้าง “เขี้ยว” ยิ่งกว่าสมัยนี้เสียด้วยซ้ำ จนมีการเปรียบเทียบแข่งขันกันแต่ละสถาบันว่าใครมีชื่อเสียงด้านคุณธรรมความดีมากกว่ากัน ด้วยว่าสมัยก่อนนักศึกษาแพทย์ยังมีจำนวนต่อรุ่นไม่มากนัก การดูแลเข้มงวด ดุด่าได้ค่อนข้างทั่วถึง และในปัจจุบันเมื่อมีโรงเรียนแพทย์เพิ่มมากขึ้น จนเกือบถึง20แห่งแล้วและมีแนวโน้มจะเปิดใหม่เพิ่มขึ้นอีก จำนวนนักศึกษาแพทย์ต่อรุ่นก็มากขึ้นตาม อาจารย์ยิ่งต้องร่วมพลังกันทั้งโดยนโยบายเพิ่มชั่วโมงการสอนด้านคุณธรรม จริยธรรมวิชาชีพในหลักสูตร และแบ่งหน้าที่กันเข้มงวดกวดขันนักศึกษาแพทย์รายตัวมากขึ้น
การกระทำทุจริตแม้เพียงเล็กน้อยในการเรียน อาทิเช่น การเขียนรายงานประวัติผู้ป่วยไม่ตรงกับความเป็นจริง การขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เช่น การโดดราวน์(การเดินดูและรักษาผู้ป่วยบนวอร์ดทุกเช้ามืด-เย็น ของทุกวัน) โดดเวร(ต้องมีแพทย์ผลัดเปลี่ยนอยู่เวรแต่ละแผนกหลักๆให้ครบตลอด24ชั่วโมง ทุกคืนรวมทั้งวันหยุด) เหล่านี้ได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มข้น หากพบก็มีผลต่อการให้คะแนนตกในวิชาต่างๆ การซ้ำชั้น รวมถึงการไม่ให้จบการศึกษา
นอกเหนือจากเรื่องดังกล่าว แม้ไม่เกี่ยวข้องกับความตั้งใจทุจริตผิดจริยธรรม การดูแลผู้ป่วยที่ผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อย เช่น การเขียนรายงานของนักศึกษาแพทย์ที่วิจารณ์ได้ไม่ถูกหลักวิชาการนัก การดูแลคนไข้ไม่ครบองค์รวม ก็จะถูกอาจารย์แพทย์ผู้ดูแลโจมตี ดุด่าว่ากล่าวหลายชั่วโมง ดุด่าว่ากล่าวถึงระดับบิดามารดา จนนักศึกษาแพทย์หลายคนร้องไห้ เครียด การใส่ถุงมือหรือการเตรียมอุปกรณ์การแพทย์ การทำหัตถการต่างๆ โดยเทคนิคปลอดเชื้อได้ไม่สมบูรณ์ ไม่ดีนัก ก็มักได้รับการดุด่าว่ากล่าวอย่างรุนแรงเป็นอย่างมาก กดดันจนถึงขีดสุด เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เรื่องราวเหล่านี้ มักไม่ค่อยได้รับเปิดเผย เล่าให้ประชาชนฟังมากนัก แต่ผมขอเล่าเพื่อให้เห็นภาพความโหดร้ายในการเรียนแพทย์ ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนเครียดจนต้องปรึกษาจิตแพทย์ มีข้อมูลสถิติว่านักศึกษาทุกปีนั้น หลังการเข้าเรียนแพทย์ ใน100คน จะมีคนมีความผิดปกติทางจิตสัก2-3คน วงการนี้ด้วยความกดดันให้อยู่ในกรอบที่ดีงาม จึงไม่ใช่วงการที่คนไม่ดีจะอยู่ได้อย่างง่ายดายนัก
อาจารย์แพทย์จำนวนมากจึงเป็นที่หวาดกลัว หวาดผวา เสมือนของแสลงของนักศึกษาแพทย์ แต่ทั้งสิ้นล้วนปากร้าย ด้วยจิตใจหวังดี อาจารย์แพทย์ทุกท่านล้วนอยากเห็นความสำเร็จของลูกศิษย์ ที่นอกเหนือจากการประสบความสำเร็จทางวิชาการและการศึกษาต่อแล้ว สิ่งที่อาจารย์อยากเห็นมากกว่านั้น คือการที่ลูกศิษย์ได้จบออกไปรักษาผู้ป่วย ดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี การปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย ตลอดจนคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ ล้วนยิ่งมีการส่งเสริมให้ยึดถือไว้ เพื่อประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ การดูแลประชาชน
จึงเป็นที่มาสู่การดุด่าว่ากล่าว อาจารย์หลายท่านยังสั่งสอนด้วยการกระทำ ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งเก่งด้านวิชาการ ดำรงคุณธรรม ช่วยเหลือคนทุกข์ยากในโรงพยาบาลรัฐอย่างเต็มที่ มุ่งให้ผู้ป่วยพ้นโรคภัย ในขณะที่กับนักศึกษาแพทย์เปรียบเสมือนมารร้ายเลยทีเดียว ใช้คำพูดโหดร้าย สนทนากันเหมือนไม่ใช่คน
ดังที่ว่ามานี้แม้ในช่วงหลังในสังคมจะมีการกล่าวหาหรือโจมตีแพทย์บางส่วน ผมคิดว่าในภาพรวมของแพทย์ส่วนใหญ่ก็ยังยึดถือประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นใหญ่อยู่ ระมัดระวังความขัดแย้งหรือการทำให้ผู้ป่วยเสียประโยชน์ คงไม่มีใครปฏิเสธหากผมจะบอกว่าเหตุผลส่วนหนึ่งที่พวกเราต้องทำดี โดยมีมาตรฐานร่วมกำหนดโดยแพทยสภา หรือราชวิทยาลัยต่างๆ ก็เพราะพวกเรากลัวปัญหา กลัวการฟ้องร้องตามมา คงไม่มีแพทย์คนใดที่อยากมีเรื่องราวกับผู้ป่วย มีชื่อเสียงเสื่อมเสียในสังคม โดนขนานนามว่าเป็นแพทย์พาณิชย์ แพทย์ที่ให้การรักษาไม่ถูกต้อง แพทย์ที่ไม่มีผู้ป่วยรัก หรอกครับ
กล่าวถึงเรื่องคุณธรรม จริยธรรม การทำดีแล้ว ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อการทุจริต การทำชั่ว การประพฤติมิชอบแล้ว ตอนหน้าอย่าพลาดอ่าน เรื่องทุจริตในกระทรวงสาธารณสุขนะครับก่อนที่จะหาว่าผมเข้าข้างแพทย์เกินจริง เพราะประวัติที่ผ่านมาของผมพูดตรงไปตรงมา มากกว่าน่ะครับ•
nattinee
หวัดดี อ่านแล้วเห็นด้วยนะสมัยก่อนมีเพื่อนพี่ โดดราวน์เย็น เนื่องจากใกล้วันสอบโดนพี่เดนท์ โกรธมาก จนไม่ยอมสอนเลยอาจารย์สมัยเรียนก็ดุ๊ดุ ท่าดุ ทั้งด่าสมัยนี้ ไม่รู้ว่าเป็นยังไงนะ รวมถึงตัวเองที่มาเป็นอาจารย์ของน้องๆออกจะใจดี เกินไปหน่อยหรือเปล่า เพิ่งรู้ว่าชเนษฐ์ เขียนบทความเก่งนะเหมือนคุณแม่เลย…..แวะมาเยี่ยมอจ ณัฐฐิณี
pomme
เราก็ได้ยินว่าที่ตอนนี้ อาจารย์ที่ มข ก็ไม่กล้าดุ นศ เพราะกลัว นศ เครียดมากไป และอาจารย์ จะโดนคอมเม้นต์ว่าไม่ สุภาพ เลยทำให้ นศ รุ่นหลังหลังเนี่ยดู มีวินัยน้อยกว่ารุ่นก่อนก่อนมาก