ชีวประวัติโดยคร่าว นพ.พัฒนัตถ์ ศรีสุโข
(อัพเดท มีนาคม 2558)
นพ.พัฒนัตถ์ ศรีสุโข (ตั้น) : Dr.Pattanath Srisukho (Pat), MD
: อาจารย์ ศัลยแพทย์ ผู้บุกเบิก แผนกศัลยกรรม และแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลพิจิตร (รับราชการ ปี 2526 -2551) เกือบสามทศวรรษ ที่ได้ช่วยเหลือประชาชนจนถึงปัจจุบัน มีการดูแลรักษาผู้ป่วยมากกว่า 3 แสนรายตลอดการทำงาน
นพ.พัฒนัตถ์ เป็นหมอผ่าตัดมือหนึ่ง และเป็นศัลยแพทย์ยุคเก่า คือ แม้จะเป็นหมอเฉพาะทางด้านการผ่าตัด แต่มีความรู้รอบ สามารถรักษาผู้ป่วยได้หลากหลายโรค ทั้ง ทางโรคทางอายุรกรรม โรคเด็ก ทำคลอดสูติ-นรีเวช โรคทางด้าน หู คอ จมูก โรคทางฮอร์โมน มะเร็งวิทยา และอื่นๆ
ในเชิงศัลยกรรมเอง สามารถผ่าตัดในด้านพิเศษจำเพาะต่างๆ กล่าวคือ ศัลยกรรมตกแต่ง, ศัลยกรรมทรวงอก, ศัลยกรรมหลอดเลือด, ศัลยกรรมเด็ก, ศัลยกรรมประสาท, ศัลยกรรมยูโรวิทยา จนทำให้โรงพยาบาลพิจิตรในสมัยหนึ่งได้ชื่อว่า “โรงพยาบาลที่ผ่าตัดได้ทุกโรค” และลดการส่งต่อคนไข้ไปยังจังหวัดอื่นที่ห่างไกล ได้มาก
ท่านมักกระทำการรักษาได้ แม้ในภาวะขาดแคลน มีการพลิกแพลงการรักษาโดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ ลดการนำเข้าอุปกรณ์ราคาแพงจากต่างประเทศ
หมอผ่าตัดที่ไม่แม้จะไม่มีมีด ก็สามารถผ่าตัดได้…
หมอผ่าตัดที่แม้จะไม่มีเข็ม ก็สามารถให้ยาทางกระแสเลือดได้…
หมอผ่าตัดที่แม้จะไม่มีไหม ก็สามารถเย็บแผลให้คนไข้ได้…
การพลิกแพลงเหล่านี้ ทำให้เกิดคำพูด กล่าวขานถึงตำนานในห้องผ่าตัด บอกเล่า ต่อๆกันมา ว่า
“กระบี่อยู่ที่ใจ แม้เพียงกิ่งไม้ ก็เป็นกระบี่ได้”
ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เลิศหรูอลังการที่สุด แต่ใช้ฝึมือทดแทนอุปกรณ์ ทำให้คนไข้ได้รับการรักษาที่ดีได้
ทำงานราชการอย่างขันแข็งจนถึงการเกษียณอายุราชการ… ช่วยเหลือผู้ยากไร้อย่างเท่าเทียม ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง
ภายหลังเกษียณอายุราชการ จึงได้ก่อตั้งสถานพยาบาลเอกชนขนาดเล็ก เพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อไป ชื่อ สถานพยาบาลศรีสุโข ตั้งอยู่บริเวณถนนสระหลวง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร (เว็บไซต์ www.srisukho.com)
ในแง่การทำงานเป็นที่รักของผู้ร่วมงาน พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกระดับ เพราะคอยช่วยเหลือ ปกป้อง และรับฟังปัญหาต่างๆ จากเจ้าหน้าที่ทุกระดับ มีความเมตตาช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาให้หน่วยงานภายในต่างๆ ท่านกล่าวอยู่เสมอว่า “งานทางการแพทย์ คือ ความเป็นทีม” “ความเป็นทีม สำคัญที่สุด”
ทั้งนี้ ยังเป็นอาจารย์แพทย์ที่ได้สอนหนังสือ นิสิตแพทย์จากนเรศวร และ แพทย์เพิ่มพูนทักษะจากทั่วประเทศ เป็นระยะเวลากว่ายี่สิบปี ด้วยความเมตตา ไม่ดุด่นก่นด่า แต่ใช้ข้อความผ่านตัวหนังสือคู่มือ หนังสือสอนนักศึกษา ทำให้แพทย์รุ่นหลังได้แนวทางและเคล็ดวิชาในการเป็นแพทย์ ได้เรียนรู้ทั้งด้านวิชาการ ฝึกฝนฝีมือหัตถการ และ ทำงานในสังคมได้อย่างมีความรักความเมตตา ให้เกียรติแก่ผู้ร่วมวิชาชีพ และประชาชน
ชีวิตครอบครัว
เกิดวันที่ 28 ตุลาคม 2501 เป็นเด็กที่บิดามารดาแยกทาง มีพี่น้อง 5 คน
แม่แท้ๆเป็นช่างตัดเสื้อผู้หญิงที่มีชื่อเสียงในชุมชนสมัยก่อน คือ นางอัมพร ตันเจริญ แต่เป็นผู้ยากจน ยากไร้ ไม่ได้เลี้ยง นพ.พัฒนัตถ์ ในวัยเด็ก เนื่องจากมีลูกมาก จึงได้มีลูกพี่ลูกน้องมาขอรับไปเป็นลูกบุญธรรม ผู้รับเลี้ยงชื่อ นายเฮง
ชีวิตในวัยเด็กเป็นเด็กฐานะยากจน จึงผลักดันให้เกิดความมุ่งมั่น หมั่นฝึกฝนตนเอง ขยันหมั่นเพียร การเรียนรู้เรื่องราวต่างๆเกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง เพราะ ไม่มีพ่อและแม่คอยสั่งสอน
ได้เข้าเรียนโรงเรียนอำนวยศิลป์ จากที่โหล่ของห้อง มาเป็นอันดับต้นๆของโรงเรียน
ต่อมา สอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้ และขยัน ขวนขวาย จากตอนแรกเข้า อยู่ห้องระดับท้ายๆของโรงเรียน ได้มีผลการเรียนการศึกษาที่น่าพอใจ ครูได้ให้ย้ายมาอยู่ห้องคิง (ห้องเรียนสำหรับเด็กนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเด่น)
สอบ entrance เข้า มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล รุ่น 87 (ตอนสอบเข้าได้อันดับประมาณ 20 ของประเทศ)
จากลูกช่างตัดเสื้อผู้ยากจน มาถึงอาจารย์ศัลยแพทย์
ด้วยความยากจน ทำให้ต้องเก็บหอมรอมริบ และแบ่งเงินส่วนหนึ่งที่ได้จาก นายเฮง เพื่อส่งไปให้แม่ของตนเองทุกเดือน ตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก ความยากจนเป็นตัวการผลักดันให้ นายพัฒนัตถ์ตั้งใจเรียน จนจบแพทย์ อย่างมีทักษะและความรู้
หลังเรียนจบ ทำงานเป็นแพทย์ในชนบท แถว รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก และ โรงพยาบาลชุมชนในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
ได้พบคู่ชีวิต คือ พญ.ชัญวลี ศรีสุโข และแต่งงาน หลังใช้ทุนครบ3ปี ได้เรียนต่อศิริราชพยาบาล สาขาศัลยกรรม มีบุตร 3 คน และวางแผนสอนลูกทุกคน ให้คิดเองได้ คิดเองเป็น
จากลูกกำพร้า สู่คุณพ่อที่ดี
นพ.พัฒนัตถ์ กล่าวว่า “คนสมัยก่อน ชอบมีลูก และอยากให้ลูกเป็นคนดี แต่ไม่เคยคิดว่า จะต้องมีวิธีการอย่างไร” “การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี ต้องมีความพร้อม ตั้งแต่ก่อนกำเนิด ต้องขวนขวายหาความรู้ หนังสือคู่มือดีดีมีเยอะ แต่คนเราสมัยนี้ ไม่ค่อยเตรียมพร้อมกัน”
นพ.พัฒนัตถ์ ตลอดชีวิต นอกจากเผื่อแผ่บุคคลรอบข้างแล้ว สำหรับลูก หลักการคือ สอนด้วยการกระทำ สอนให้คิดเองกระทำเองพึ่งพาตนเองได้ ไม่เบียดเบียนใคร และมีความระลึกที่จะช่วยเหลือสังคมตลอดไป
เป็นการเลี้ยงที่ไม่ตามใจลูก สอนให้รู้จักระเบียบวินัยในตนเอง เตือนตนเอง
และยังให้อิสระทางความคิด วิธีการหนึ่ง คือการจัดประชุมลูกอยู่ทุกเดือน เมื่อลูกโตถึงระดับหนึ่ง เพื่อให้ลูกหัดแสดงความเห็นต่อ แนวคิดต่างๆ ต่อการใช้ชีวิตทั้งในทางที่ดี และในทางที่ไม่ดี พร้อมชี้แนะ ทำให้ลูกสามารถคิดและเรียนรู้ได้ พัฒนาการกระบวนการคิดของลูก ให้มี หลักการใช้เหตุผลดียิ่งขึ้น
หมอพัฒนัตถ์ จำกัดเวลาลูกในการดูโทรทัศน์ สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง และสอนลูกเสมอว่า สิ่งใดเป็นศัตรูตัวฉกาจของเด็กๆ อาทิ เกม, โทรทัศน์, คอมพิวเตอร์ ฯลฯ (งานวิจัยยังมาพบภายหลังว่าสิ่งเหล่านี้ มีผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก)
ท่านมีแนวคิดต่างๆที่ได้เขียนติดไว้ตามบริเวณต่างๆในบ้านพักแพทย์ แม้จะเป็นบ้านพักเล็กๆ แต่แบ่งส่วนให้เด็กๆ ได้มีความเป็นส่วนตัว และเรียนรู้สิ่งต่างๆเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง
ลูกเติบโตขึ้นมาจึงไม่ยุ่งเกี่ยวการพนัน สิ่งเสพติด รวมทั้งไม่ติดโทรทัศน์ เกม ศัตรูตัวฉกาจ ที่เคยพูดคุยประชุมกันมาตั้งแต่วัยเด็ก กระนั้นก็เรียนรู้ว่าจะใช้งานสิ่งต่างๆได้อย่างไรให้เกิดประโยชน์ รวมทั้ง การแบ่งเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆของชีวิตได้เป็นอย่างดี
พ่อพระของเครือญาติ
สำหรับเครือญาติแล้ว เมื่อมีรายได้มั่นคงมากขึ้น นพ.พัฒนัตถ์ ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลทุกคน ทั้งที่สมัยเด็ก ไม่ค่อยได้รับการดูแลหรือสนใจจากใคร
การตอบแทนพ่อที่ทิ้งตนเองไปในวัยเด็ก และแม่ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกในวัยเด็ก นพ.พัฒนัตถ์ ได้ให้ทรัพย์สินเพื่อการใช้จ่ายในชีวิต ให้ยาเพื่อการรักษาอาการเจ็บป่วย คอยดูแลยามทุกข์ยาก ท่านยังให้การดูแลรักษาเครือญาติ เป็นที่พึ่งพาของคนหลายๆคน และเป็นการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
ญาติพิจิตร
การลงหลักปักฐานพิจิตร เนื่องจากอยู่ระหว่างกรุงเทพ(บ้านเกิด นพ.พัฒนัตถ์) และ เชียงใหม่ (บ้านเกิด พญ.ชัญวลี-ภรรยา) และได้ช่วยเหลือชาวพิจิตรเป็นระยะเวลานาน
พยาบาลและบุคลากรทางสาธารณสุข ตลอดจนข้าราชการในจังหวัด ต่างรักใคร่
ในงานบวชของลูกชาย ซึ่งไปบวชไกลถึง จ.ชัยภูมิ มีคนที่นับญาติจากพิจิตร ตามไปมากร่วมสิบคันรถ เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จนถึงผู้ร่วมงาน ที่เคารพรัก นับญาติกัน
วีรกรรมที่ทุกคนจำได้อยู่เสมอ คือการออกรับผิดชอบแทนลูกน้อง ยอมให้นายดุด่า หรือเมื่อมีคนร้องเรียน เมื่อเกิดความผิดพลาด ความไม่เข้าใจกับผู้ป่วย จะออกหน้าเข้าช่วยแก้ไขสถานการณ์อย่างกล้าหาญ ในฐานะหัวหน้า “เราคือทีมเดียวกัน”
งานเกษียณอายุราชการ จัดเลี้ยงกันหลายเดือน หลายหน่วยงาน ด้วยความรักและคิดถึง มีผู้ร่วมงาน เป็นจำนวนมาก…
ชีวิตในปัจจุบัน และอนาคต
นพ.พัฒนัตถ์ ได้ทำสถานพยาบาลของตนเอง ให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาที่ดีมีคุณภาพ และราคาเข้าถึงได้
ท่านกล่าวว่า “ไม่หวังร่ำรวยมหาศาล หรือมีชื่อเสียงอย่างไร ทุกวันนี้อยู่เพื่อให้ข้อคิดนักเรียน(ลูก) เมื่อพึ่งพาตนเองได้ สู้ชีวิตต่อไปได้ หากพ่อมีอันเป็นไป ไม่ไหว ก็คงต้องจากโลกนี้ไป …ก็แค่นั้นเอง”
นพ.พัฒนัตถ์ ไม่เคยกลัวความตาย และมุ่งมั่นกระทำความดีมาตลอดชีวิต
ท่านนักพรต
การขนานนามว่าท่านนักพรต เกิดจากคนในครอบครัวที่เห็นท่านนอนน้อย รับประทานน้อย แต่ทำงานหนัก
เสื้อผ้าเก่าใช้ร่วมสิบปี จนซ่อมไม่ได้แล้วจึงเปลี่ยน นอนบนพรมเก่าๆ อยู่กินง่าย แต่ทำงานมาก
ท่านเคยกล่าวว่า
การทำงานเหมือนการปิดทองใต้ฐานพระ ไม่หวังให้ใครเห็น แต่เราได้ภูมิใจที่เมตตาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ (มามากกว่าสามสิบปี)
การสุขสันต์วันพ่อ 5 ธันวาคม 2552
สุขสันต์วันพ่อแห่งชาติแล้ว ขอสุขสันต์คุณพ่อของฉัน โดยกลอนจากแม่
พ่อรักเราด้วยการกระทำ เราควรรักพ่อด้วยการกระทำ
กราบขอบคุณพ่อเนื่องในวันพ่อ
ตั้งแต่เด็กพวกฉันจำได้ว่า
น้องใส่บ่า พี่ขี่คอ พ่ออุ้มฉัน
ไปไหนพ่อลูกสามคนไปพร้อมกัน
ทุกคืนวันพ่อชิดใกล้ไม่ห่างตา
พ่อสอนการบ้านแม้งานหนัก
พ่อให้นักเรียนต้องท่องคาถา
จะสำเร็จสมหวังดังศรัทธา
ระวังว่าตัวร้ายนี้ต้องหนีไกล
คือทีวี เกมกดต้องลดละ
มีมานะ สมาธิ บ่มนิสัย
ให้นักเรียนมุ่งมั่นและตั้งใจ
หลีกหนีภัย ออกกำลัง พ่อสั่งมา
พ่อจัดประชุมกลุ่มลูกลูก
ให้หัดผูกหัดแพ้แก้ปัญหา
หัดพูดออกความเห็นเช่นนานา
พ่อปูทางให้ลูกยากว่าจะโต
พ่อเป็นโค้ชที่ยิ่งใหญ่ในใจฉัน
เตรียมการพลันวางรากฐานงานอักโข
บังคับใจตนได้ไม่เลโล
จึงจะโกอินเตอร์ได้พ่อให้ทาง
เมื่อลูกทุกข์ลูกท้อพ่อมาถึง
ทุกสิ่งซึ่งลูกมีพ่อนี้สร้าง
ลูกคือที่หนึ่งในใจไม่เคยจาง
ไม่เอ่ยอ้างว่าเหนื่อยท้อคือพ่อเรา
พ่อบอกว่าความรักคือกระทำ
ใช่น้ำคำเอ่ยรักสุดจักเฉา
ปฏิบัติบูชามานานเนา
จนพวกเราเติบใหญ่พ่อให้รัก
พ่อบอกว่ารักพ่อเพียงขอให้
หน้าที่ไซร้ลูกคงจงตระหนัก
ช่วยเหลือตน คนชิดใกล้ได้พิงพัก
พร้อมพิทักษ์ความดีงามทุกยามไป
ในวันพ่อ…
ลูกกราบขอพ่อไร้ทุกข์สุขยิ่งใหญ่
คำพ่อสอนจดจารึกตรึกหัวใจ
พ่อคือไอดอลให้เราก้าวตามรอย
จาก กล้า กลาง เกน
(แม่หวิวผู้ประพันธ์)
ฉันคิดว่าสุดท้ายแล้ว การที่ฉันพยายามคิดดี ทำดี ทำประโยชน์ให้สังคม ก็เพราะฉันมีพ่อที่เป็นแบบอย่างในการให้ มอบ อุทิศ เสียสละ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
และพ่อเป็นผู้อยู่เบื้องหลังผลงานทุกอย่างของคนในครอบครัว อย่างที่ไม่มีใครจะรู้ ดังนั้น สิ่งที่ลูกๆและแม่ได้กระทำเป็นประโยชน์เนื้อนาบุญของโลก
พวกเราควรอุทิศมอบให้คุณพ่อทั้งหมดทั้งสิ้น และชีวิตนี้การได้มีครอบครัวอันประเสริฐ คือบ่อกำเนิดพลังอันยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว
หมายเหตุ ปรกติ คุณพ่อจะส่ง sms เตือนใจ เตือนสตินักเรียนทุกคน ทุกวัน ไม่ว่าจะอยู่ไกลเพียงไหน เพื่อให้อดทน พยายามดำรงตน คงอุดมการณ์ ในการทำดีและทำหน้าที่ต่อไป
ทดสอบคอมเมนต์