GRIEF น้อมรำลึก 7ตุลา วีรประชาชน
บทความนี้ได้รับเกียรติลงวารสารปฏิรูปทางความคิด ติดอาวุธทางปัญญา www.demo-crazy.com
ฉบับพิเศษ(12) เนื่องในโอกาสรำลึก 7 ตุลาคม 2551 วารสารหลายพันเล่มแจกหมดโดยเร็วในงานรำลึก 7ตุลาฯ
ชเนษฎ์ ศรีสุโขนักศึกษาแพทย์ปี5 [chanesd@gmail.com]
หากมารำลึกแล้ว ท่ามกลางความโศกเศร้า การตาย การสูญเสีย ทางจิตเวชศาสตร์บอกว่า คนเราจะมีกระบวนการแสดงออกเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเหล่านี้ เรียกว่า Grief reaction และ Bereavement
โดยกระบวนการเหล่านี้ประกอบไปด้วย
·Denial การปฏิเสธความจริงเมื่อแรกเริ่ม ไม่เชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นได้เกิดขึ้น ลึกๆอยากให้เป็นเพียงแค่ความฝันไป ในตอนแรกรับความจริงไม่ได้เลย
·Angerความโกรธที่อาจโทษตัวเองว่าทำให้เกิดการสูญเสีย มักจะเริ่มจากการโทษผู้อื่น หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องว่าเป็นต้นเหตุของเรื่องราวร้ายๆที่เกิดขึ้น
·Bargaining เริ่มมีการต่อรองยอมรับสภาพความเป็นจริง เริ่มยอมรับความจริงได้บางส่วน
·Depression มีความเศร้าโศกเสียใจเกิดขึ้น อาจซึมเศร้าและมีอาการผิดปกติอื่นร่วมได้
·และในที่สุดAcceptance คือการยอมรับได้กับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
กระบวนการที่ว่ามานี้ อาจเกิดขั้นตอนใดก่อนก็ได้ เกิดพร้อมกันหรือไม่พร้อมกันก็ได้ครับ และ หากประสบเหตุร้ายแรงกับตนเองก็จะมีกระบวน GRIEF reaction นี้ได้เช่นกัน มีอดีตอาจารย์แพทย์ผู้ล่วงลับ อ.สุมาลี นิมมานนิตย์ อาจารย์ผู้เมตตาต่อนักศึกษาแพทย์ในอดีต ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ได้เขียนบทความไว้ก่อนท่านเสียชีวิต ยืนยันว่าความรู้สึกตามกระบวนการที่ว่ามานี้นั้น บางอย่างอาจแสดงออกหรือไม่แสดงออกก็ได้ เช่นเดียวกับ อาจารย์แพทย์ บุญเชียร ปานเสถียรกุล อดีตคณบดีที่รักของนักศึกษาแพทย์รังสิตและผมเอง เสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็ง ก่อนเสียได้พูดกับผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า เมื่อท่านพบว่าตนเองเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายแล้ว พบว่าท่านคิดมาก เศร้าอยู่แค่วันเดียว หลังจากนั้นมองความตายเป็นเรื่องตลกไปเสียฉิบ และมุ่งหน้าร่วมกับนักศึกษาแพทย์กระทำดีทุกอย่างเพื่อการพัฒนาวิทยาลัยอย่างสุดความสามารถ จวบจนวาระสุดท้าย
ความโศกเศร้าที่เกิดจากการสูญเสียคู่ชีวิต สูญเสียคนรัก(รวมถึงอาจหมายถึงสัตว์เลี้ยงที่รักด้วย)นั้น ทางจิตเวชศาสตร์จัดให้เป็นความโศกเศร้าเสียใจรุนแรงสุดอันดับหนึ่ง คนที่เคยสูญเสียย่อมรู้สึกได้ดี มาเปรียบเทียบกับการเสียสละของผู้รักชาติในเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 นั้น หรือการสูญเสียเพื่อแผ่นดินของเราในอดีต ทั้งนักศึกษาเดือนตุลาสมัยก่อน หรือปัจจุบันทหาร ประชาชนผู้สูญเสียในภาคใต้ก็ตามจวบจนล่าสุดการสูญเสียจากการต่อสู้เพื่อแผ่นดินไทยเขาวิหาร ฯลฯ สามี ภรรยา หรือครอบครัว คนรัก ของพวกเขาเหล่านั้น ย่อมรู้สึก โศกเศร้ากันมาก เป็นระยะเวลานาน อาจมีอาการทางกายได้ เช่น หงุดหงิด, เบื่อหน่าย, ไม่อยากเข้าสังคม, เบื่ออาหาร, นอนไม่หลับ, กระสับกระส่าย, น้ำตาไหลบ่อยครั้ง, ตลอดจนตัวสั่นเทาโดยไม่ทราบสาเหตุ
อาการที่ว่าไปรวมถึงอาการอื่นๆนอกจากนี้ สามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติและโดยทั่วไปคนเราจะสามารถปรับตัวต่อการสูญเสียตามที่ควรจะเป็นได้เอง ภายใน3-6เดือน แต่หากอาการมากรุนแรงขึ้นจนทำให้ชีวิตประจำวันเสียไป หรือทุกข์เศร้าจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ ควรรีบพบจิตแพทย์ เพื่อช่วยเหลือกัน มิฉะนั้นอาจอาการรุนแรงเป็นโรคซึมเศร้า Major depressive disorder หรือ หากเป็นนานติดต่อกันนานเกินไป ก็อาจเป็นความผิดปกติในการปรับตัวได้ Adjustment disorder
น้อมรำลึกถึงเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 เมื่อปีก่อน ประชาชนหลายท่านคงยังจำความรู้สึกได้ดีว่า บ้านเมืองอยู่ในสภาวการณ์โกลาหลขนาดไหน การสูญเสียเลือดเนื้อ เพื่อการปกป้องรักษาประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง แต่หาใช่การปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จากศัตรูต่างชาติใดใด กลับกลายเป็นการต่อสู้ระหว่างคนไทยกับอำนาจรัฐในสมัยนั้น ด้วยกันเอง
โดยไม่รู้ว่าเป็นชัยชนะของประชาชนหรือไม่ นำมาซึ่งรัฐบาลซึ่งดำรงอยู่ในขณะนี้ ที่ประชาชนบางส่วนไม่สามารถเชื่อมั่นได้ว่าจะทำให้ประเทศของเราผ่านพ้น “วิกฤตที่สุดในโลก” ตามพระราชดำรัสขององค์เหนือหัว ไปได้เช่นไร และยังไม่เชื่อมั่นว่าเราจะสูญเสียพื้นที่พิพาท สูญเสียแผ่นดิน สูญเสียทรัพยากรจากการร่วมมือของคนไทยบางคนกับต่างชาติอีกหรือไม่
ในตอนนั้น หลายคนเคยหลั่งน้ำตาพลันปฏิเสธความจริงว่าพี่โบว์หรือสารวัตรจ๊าบได้จากพวกเราไปแล้ว คุณตี๋โดนระเบิดบาดเจ็บสาหัส ตลอดจนประชาชนอีกหลายท่าน แขนขาขาด พิการตลอดชีวิต เราเริ่มโกรธรัฐบาลและรัฐตำรวจว่าอยู่เบื้องหลังการทำร้าย-สังหารประชาชน ต่อมาเราเริ่มรับความจริงถึงการสูญเสียได้มากขึ้นจากการจัดงานศพให้ผู้สูญเสีย และการเยียวยาผู้บาดเจ็บพิการ ในจุดนี้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ในบ้านเมือง รวมถึงที่สำคัญสุดคือกำลังใจของพ่อแม่พี่น้องพวกเราด้วยกันเองที่ทำให้เราต่อรองกับความเป็นจริงมากขึ้นได้ เราโศกเศร้ากันเป็นเวลานานและพยายามเก็บความรู้สึกเอาไว้ใช้ต่อสู้เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ต่อไป และในที่สุดเรารับความจริงกับการสูญเสียพี่น้องผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุข โดยมิได้หวาดหวั่นต่อความอยุติธรรมและภัยจากมารร้าย เรามีพลังเพิ่มขึ้น แปรเปลี่ยนความโศกเศร้ามาเป็นแรงกระตุ้นให้รู้หน้าที่ใช้หนี้แผ่นดินกันต่อไป
ยิ่งพูดรำลึกยิ่งเศร้าเหมือนภาพยนตร์เก่าที่ฉายใหม่ ที่น่าเจ็บใจคือมันคือความจริง แต่อย่างไรก็ตาม อยากให้ความโศกเศร้าทั้งหลายนี่แปรเปลี่ยนเป็นพลัง
พลังของคนไทยทั้งชาติ ที่ต้องเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต เรียนรู้ให้ละเอียด โดยไม่ปิดกั้นให้เหมือนเรื่องราวตุลาทมิฬ หรือพฤษภาทมิฬในอดีต นักเรียน เยาวชน คนรุ่นใหม่ควรได้ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยด้านการเมือง การต่อสู้ในสังคมเหล่านี้โดยถี่ถ้วน ปลูกฝังอุดมการณ์ความรัก ความรู้รับผิดชอบต่อแผ่นดินไทยและ เหนืออื่นใด การเห็นประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าประโยชน์เล็กน้อยส่วนตน
คนรุ่นใหม่จะรวมใจมุ่งสู่อนาคต เพื่อการพัฒนาประเทศ และไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยก็เพราะการซ้ำรอยทีหนึ่ง หมายถึงการสูญเสียของประชาชน อย่าให้เกิดขึ้นอีกเลยนะครับ
และอย่าฝากความหวังไว้เพียงที่รัฐสภา ที่ทำเนียบรัฐบาลควรเริ่มต้นที่ตนเอง ถ้าประชาชนทุกคนมี “ปัญญา” มีความรู้ความเข้าใจ ความรัก และความสมัครสมานสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกัน เชื่อว่าเราจะร่วมมือกำหนดทิศทางประเทศไทยได้เองโดยไม่ต้องไปหวังเพียงเฉพาะคนบางกลุ่ม เช่น นักการเมือง
และประเทศจะผ่านพ้น ”วิกฤตที่สุดในโลก” ครั้งนี้ไปได้ครับ
ตุ๊กตาล้มลุก
วัดดีเพื่อนกล้า ผมแวะมาทักทาย