ประชารัฐร่วมใจ ร่วมจ่าย ร่วมหาทางออกให้ระบบสาธารณสุขประเทศ
ประชารัฐร่วมใจ ร่วมจ่าย ร่วมหาทางออกให้ระบบสาธารณสุขประเทศ
ตีพิมพ์บทความใน Manager online วันที่ 5 กันยายน 2559
ที่มา http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000089109
ชเนษฎ์ ศรีสุโข พบ., วทม.
ภาพรวมประเทศไทยตอนนี้ กำลังการผลิตแพทย์ต่อปีเพิ่มขึ้นมาก แพทย์จบใหม่ปี พ.ศ.2558 จำนวน 2,537 คน จาก 22 โรงเรียนแพทย์ในประเทศไทยและจากโรงเรียนแพทย์ต่างประเทศ กำลังการผลิตแพทย์นี้ มีทีท่าว่าจะเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ และก็กำลังมีการเปิดโรงเรียนแพทย์ใหม่ๆเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง ถ้าคิดคำนวณ จำนวนแพทย์ต่อประชากรไทย มีความเพียงพอมากขึ้น ขณะนี้ จำนวนแพทย์ต่อประชากรไทย น้อยกว่า 1:1500 ประชากรแล้ว ตามยุทธศาสตร์ประเทศในแผนพัฒนาสถิติ สาขาสุขภาพ ฉบับที่ 1 แม้แต่จำนวนแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขเอง ก็มีตำแหน่งเพิ่มมากขึ้น (ที่มาสถิติ : สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา)
ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องจำนวนแพทย์ไม่พออีกต่อไปแล้ว แต่เป็น เรื่องของปริมาณภาระงาน การกระจายตัวแพทย์ คุณภาพของการรักษา และ ภาวะความขาดทุนของระบบ
ความเป็นชนบท ตอนนี้ แตกต่างจากสมัยก่อน มาก เพราะบ้านเมืองเจริญขึ้นทุกแห่งหน แต่ ในวงการสาธารณสุข โรงพยาบาลขนาดเล็ก กลับต้อง ส่งตัวคนไข้ไปรักษาโรงพยาบาลขนาดใหญ่กันมากขึ้น เนื่องจากกลัวถูกฟ้องร้องว่าทำเกินขอบเขตงาน (เหตุส่วนหนึ่งก็เกิดจากคำตัดสินศาลในอดีต ที่มีคำตัดสินเกี่ยวกับ กรณีแพทย์ทั่วไปดมยาผ่าไส้ติ่งอักเสบ ตัดสินว่าเรื่องความผิดของแพทย์ทั่วไปในการทำคลอด ประเภทการคลอดติดไหล่ คำตัดสินเกี่ยวกับเรื่อง หมอตรวจพบโรควัณโรคเด็ก ช้าไป 6 วัน)
แพทย์โรงพยาบาลเล็กจึงต้องส่งต่อผู้ป่วยที่เกินกว่าความสามารถของตนเอง (รีเฟอร์) ไปหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ห้องผ่าตัดที่เคยเปิดในโรงพยาบาลชุมชน หลังจากคดีฟ้องร้องเพิ่มมากขึ้น ห้องผ่าตัดเหล่านั้นก็ปิดเสียเกือบหมด แพทย์ที่ทำงานเจอโรคที่เคยรักษาได้ก็กลัวจะหาว่าฉันไม่ใช่แพทย์เฉพาะทางก็ส่งต่อคนไข้ ปริมาณภาระงาน จึงไปกระจุก ยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งหากทั้งแพทย์และผู้ป่วยขาดความเข้าใจในหน้าที่ของตนเอง (สิทธิควรมาพร้อมหน้าที่) และขาดระเบียบวินัย จะทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เกิดปัญหาได้
แพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลใหญ่ เรียนกันนาน และก็ต้องใช้เวลาในชีวิตหมดไปกับการหาประสบการณ์ทางวิชาชีพ กว่าจะเก่งก็อายุราว 40 ปี หากคนไหนมีลู่ทางดีกว่า เพราะเจอประสบการณ์รันทดจากการทำงานภาครัฐ กลัวการฟ้องร้อง และอยากได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม ก็อาจไปอยู่เอกชน หรือทำอาชีพอื่น (ที่มา : ข่าว ล้วงลึกเหตุผลหมอลาออกwww.manager.co.th/qol/viewnews.aspx?NewsID=9580000045662)
การรักษา แพทย์ทุกคนรักษาต่อเนื่อง รักษาไม่หยุด มียาเท่าไรให้เต็มที่ ก็ย่อมเกิดภาวะความขาดทุนให้กับระบบ และหากไม่มีระบบร่วมจ่ายช่วยภาวะความขาดทุน จะขอฟรีทุกคนทุกโรค ทุกภาวะตลอดไปนั้น มีงบประมาณประเทศเท่าไรก็ไม่พอ เพราะแพทย์ระดับปฏิบัติงานไม่เคยสนใจว่ายาจะแพงแค่ไหนก็จ่ายยาเพื่อช่วยคนไข้ กลายเป็นว่า ทำประเทศขาดทุน และเกิดภาวะ การต้องลดคุณภาพยาเพราะไม่มีเงินซื้อยา ไม่มีเงินพัฒนายา ยาที่ประชาชนได้รับก็จะเป็นยาที่คุณภาพไม่ดี วัคซีนป้องกันโรครัฐก็ไม่มีเงินซื้อ เครื่องมือก็ชำรุด ตึกก็เก่า เตียงก็พัง แม้แต่โรงพยาบาลที่ใหญ่มากอย่างโรงพยาบาลศิริราชก็ยอมรับว่าขาดทุนจากโครงการนี้ และยังอยู่ได้มีการรักษาที่ดีมีคุณภาพ เพราะการได้เงินจากช่องทางอื่น คือเงินบริจาค (ที่มา : ข่าวศิริราชหนุนร่วมจ่าย เพราะขาดทุนจากระบบสามสิบบาท http://www.thaihospital.org/board/index.php?topic=12665.0)
ในต่างประเทศ เขาจึงทำเป็น “ระบบร่วมจ่าย” โดยเฉพาะ งานวิจัยพบว่า การร่วมจ่าย ณ จุดรักษา ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมรับผิดชอบมากขึ้นและทำให้ได้คุณภาพการรักษาที่ดี บางประเทศก็ร่วมจ่ายผ่านการเก็บภาษีอัตราสูง นักวิจัยไทย ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ นักวิจัยอาวุโสของสถาบันนิด้า เคยทำการค้นคว้าบทความและตีพิมพ์ไว้ ถึงวิธีร่วมจ่าย 4 วิธี ที่ประเทศไทยสามารถทำได้ พร้อมข้อดี ข้อเสีย แต่ละวิธี นำเสนอแก่สังคม (ที่มา :http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000141943) นายกแพทยสภาไทยก็เคยเสนอจุดยืนชัดเจน ระบบร่วมจ่าย เพราะรับรู้ปัญหาจากฝั่งโรงพยาบาลสาธารณสุขที่จ่ายยาปริมาณมาก และการขาดความรู้สึกร่วมรับผิดชอบ (ที่มา :https://www.hfocus.org/content/2016/01/11498)
พอมีเงินเข้าระบบได้ ก็พัฒนาระบบได้ คุณภาพจะดีขึ้น ไม่ว่าจะในนามโรงพยาบาลมูลนิธิ โรงพยาบาลมหาชน พอมีเงินจากส่วนคนชั้นกลาง ชั้นสูงมาช่วย ก็ช่วยรักษาคนชั้นล่างได้ดียิ่งขึ้น คุณภาพดี และฟรีด้วย (ในไทย เดิมก็มีโมเดลเช่นนี้มากมาย ทั้งรัฐและเอกชน รพ.บ้านแพ้ว-มหาชน รพ.หัวเฉียว-มูลนิธิจีน รพ.วิชัยยุทธ-มูลนิธิสนับสนุนสงฆ์ ฯลฯ) และคงไม่มีใครใจร้ายไปเก็บเงินทำร้ายคนจน มีแต่อยากสนับสนุนให้คนจนพึ่งพาตนเองได้ เพื่อที่ช่วยให้สังคม ประเทศชาติดีขึ้น เราควรสนับสนุนให้คนหาปลา มากกว่าแจกปลาให้คนเพียงอย่างเดียว
สิ่งที่สังคม ทั้งหมอ บุคลากรสาธารณสุข นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม ประชาชน ควรพิจารณา จึงมิใช่แค่เพียงว่า จะให้รักษาฟรีทุกคนทุกโรคได้ 24 ชั่วโมง อย่างไร จะชูธงแค่ตรงนั้น มันง่าย ประชานิยมคนชอบ พูดง่าย พูดเท่ เอาเป็นคำไว้ด่าใครก็ได้หาว่าคนอื่นเขาไม่รักคนจนซึ่งไม่ใช่เลย ในภาวะงบประมาณขาดทุนขนาดหนักในปัจจุบัน ได้ตระหนัก และมองกันไหมว่า รักษาฟรีแล้วคุณภาพการรักษาดีหรือไม่ (ข่าวรักษาบัตรทองตายสูงกว่าสิทธิข้าราชการ http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000070344)
คุณภาพยาเป็นอย่างไร (บทความ ‘หมอ’แฉลดคุณภาพยา-ห้ามรักษาเกิน 700 บาทhttp://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000091378)
ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ดีไหม รักษาไปรัดคอกันไปหรือเตะก้านคอกันไปในห้องฉุกเฉินหรือไม่ (ข่าวเตะก้านคอหมอhttp://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9590000080775)
ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพเช่นนี้ จำเป็นต้องได้รับการใส่ใจจากคนทุกฝ่าย และอย่าใช้ความเป็น NGO ที่เรียกร้องจากแพทย์ทุกวัน สร้างภาพแพทย์ หรือ แพทยสภาให้เป็นปีศาจ โดยมีพฤติกรรม ร้องเรียนแพทย์ทุกวัน แต่ไม่พยายาม ที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา ในการเข้ามาค้นหาปัญหา และปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น ไม่เคยทำกิจการสุจริต แต่หวังให้ประเทศดีขึ้นด้วยคำด่า และการมองโลกด้านลบ ความแค้นฝังหุ่น มันจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร และการพยายามต่อต้านโรงพยาบาลเอกชนหาว่าเป็นนายทุน ทำให้เกิดความบาดหมาง ทั้งที่ภาคเอกชน และรัฐบาล มีโครงการความร่วมมือกันเพิ่มขึ้นมาก เอกชนช่วยผลิตบุคลากรก็มีเพิ่ม หลายที่ (อาทิ เช่น วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยสยาม และองค์กรผลิตแพทย์อื่นเกือบทุกที่ มีความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน) เอกชนจ่ายภาษีมหาศาล มาช่วยอุดหนุนรัฐ (ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตัวอย่าง บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ บริษัทเดียว จ่ายภาษี ปี 2558 ให้รัฐ 1,863.9 ล้านบาท ไม่นับภาษีเงินได้ที่บุคลากรสาธารณสุขทุกคนจ่ายทุกปี) และเอกชนมีโครงการให้เปล่ากับรัฐบาลมากมาย ในโรงเรียนแพทย์ใหญ่ก็มีเปิดส่วนลักษณะคล้ายเอกชนก็เพื่อนำเงินคนชั้นกลาง คนรวย ไปช่วยคนจน ไม่ใช่หาประโยชน์เข้าตนเองอย่างที่กล่าวหาเพียงด้านเดียว
การร้องเรียนวิจารณ์ทำง่าย แต่การทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์จริงๆเป็นเรื่องยาก คนที่ต่อว่าวงการแพทย์เหล่านั้นจะรู้ไหมว่า ด้วยความร่วมมือหลายภาคส่วน วิชาการแพทย์ไปก้าวไกลไประดับโลก แพทย์นักวิจัย นักพัฒนาเครื่องมือเองก็มาก คิดค้นยาเองก็มาก การป้องกันโรคก็ไปไกลมากแล้ว (อ่านบทความ เรื่องแพทย์ไทยพบกัญชาต้านมะเร็ง http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9590000039639 และพบการรักษาต้านเอดส์ http://www.komchadluek.net/news/detail/153948 ) ทำชาวโลก ทำคนไทยคุณภาพชีวิตดีขึ้น ปลอดโรคมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด และก็อยากผลักดันให้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (โครงการสามสิบบาท) ให้ดียิ่งขึ้นด้วย
คนทำงานเก่งๆ ที่แก้ไขปัญหาระบบอยู่จริงๆ ก็มีมาก คนดีมีมากกว่าคนเลว (หมอเลวก็สนับสนุนว่าต้องจัดการมันเหมือนกัน ไม่ใช่อุ้มกันเกินควร) แต่ คนดีเจอคนร้องเรียน ฟ้องร้อง ก็หนีออกนอกระบบไปเยอะ เหลือแต่ผู้กล้าบางกลุ่มที่ยังทำงานกันจริงอยู่ และยังมีกำลังใจจากประชาชนบางส่วนอยู่
หวังว่า สักวันหนึ่ง หากผู้ใหญ่ในประเทศ และประชาชน เข้าใจเรื่องราวต่างๆมากขึ้น จะสนับสนุนให้คนได้รับรู้ เข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง มองโลกในแง่บวก มองโลกในด้านดี นำไปสู่การปฏิรูปให้ถูกทาง ดังข่าว รพ.บ้านแพ้ว ภูมิใจเป็นตัวอย่างที่ดีให้บริการครอบคลุมทุกมิติ ด้วยจุดแข็ง คือการมีส่วนร่วม ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง นำรายได้เพิ่มเติมในระบบ ดูแลผู้ยากไร้ (ที่มา : https://www.hfocus.org/content/2016/08/12480) เช่นนี้ ก็จะเป็นการสานต่อความตั้งใจของหมอรุ่นเก่าที่ทำเพื่อประชาชนจริงๆ สืบต่อไป