
Ronnarong’s dad, an old monk, went to hospital lately.
[16 กันยายน 2557]
เมื่อวาน พี่ที่สนิท พาไปไหว้พระอาจารย์ซึ่งอาพาธ อยู่โรงพยาบาลสงฆ์
บรรยากาศในห้องผู้ป่วยหนัก (ไอซียู) เป็นบรรยากาศ ที่สะท้อนภาวะวิกฤตในชีวิต…
สายระโยงระยาง เต็มตัวหลวงพ่อ ท่อพลาสติกขาวเป็นปล้องๆ ต่อจากปากของหลวงพ่อไปยังเครื่องช่วยหายใจที่คอยตีลมเป็นจังหวะ
เรายืนมอง หน้าจอวัดการหายใจ วัดระดับออกซิเจนในเลือด วัดค่าการเต้นชีพจร สักพักก็จะมีเสียงร้องหวีดแหลมคล้ายเสียงกรีดร้องของผู้หญิง หากแต่เป็นเสียงเตือนจากเครื่องให้ยาทางกระแสเลือด บ่งบอกว่ายาที่ให้หมดแล้ว พี่พยาบาลรีบเข้ามาเปลี่ยนยาทางสายน้ำเกลือให้ และพูดให้กำลังใจหลวงพ่อ ว่าอีกไม่นานสุขภาพท่านจะดีขึ้น โดยหลวงพ่ออยู่ในภาวะไม่สามารถสื่อสารได้เท่าไรนัก
ผมกราบเท้าหลวงพ่อสามครั้งและพยายามถอยออกมา พลันบอกพี่ที่สนิทว่า คนป่วยลักษณะนี้ ร่างกายอ่อนแอ ให้พึงระวังมากว่าญาติทั้งหลายที่มาเยี่ยม รวมทั้งพวกเราเองจะพาเอาเชื้อโรค มาให้หลวงพ่อ การเปลี่ยนรองเท้า และสวมเครื่องป้องกันก่อนเข้าเยี่ยมเป็นเรื่องสำคัญมาก
พี่คนนี้ ความเดิมเป็นคนสู้ชีวิต ที่เติบโตมาโดยลำพัง อยู่ห่างไกลครอบครัว คุณพ่อของเขาไปบวชตั้งแต่เขายังเด็ก แม้มีการอุปถัมภ์จุนเจือกันพอประมาณ ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกันตลอดเวลา เท่าที่เรารู้จัก ทั้งพ่อเขาที่เป็นคนในผ้าเหลือง และพี่ที่เป็นคนนอกผ้าเหลือง ต่างเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้ ที่เอื้อเฟื่อเผื่อแผ่คนรอบข้างพอประมาณ
ผมมองทั้งบุรุษพยาบาล และ พยาบาลหญิงวัยกลางคนที่ทำงานกันไม่หยุด สักพัก ผมกระซิบถามพี่ ว่า ตั้งแต่หลวงพ่อมานอนโรงพยาบาลสงฆ์ นี้ เราได้เคยมองคนที่ช่วยอุปถัมภ์บ้างหรือไม่ ผมนับจำนวนพยาบาล และสักพัก เราชวนกันเดินไปถามชื่อคุณหมอที่ดูแลไข้หลวงพ่อ ท่ามกลางความสงสัยของพยาบาล ที่ฉายแววตาความไม่ไว้วางใจ เพราะไม่รู้ว่าเจตนาของเรา เป็นเช่นไร
ผมและพี่ที่สนิท มุ่งหน้าออกจากโรงพยาบาลสงฆ์ในทันที โดยไม่มีคำพูดใด ขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปยังตลาดสะพานขาว…
หลวงพ่อ ตาทีเลือนลาง เพราะเป็นต้อกระจกชนิดรุนแรง นอนแอ้งแม้งอยู่บนเตียงในไอซียู ลำไส้ทำงานไม่ดีนัก ต้องสวนล้างลำไส้ทุกวัน คงเป็นภาวะที่มีทุกข์อยู่บ้าง เป็นเนืองๆ การหายใจที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจคงไม่ทำให้ใครรู้สึกสบายเท่าการหายใจด้วยตัวเอง…
กระนั้น คำพูดที่แสดงถึงการไม่ห่วงตนเอง คือนึกถึงเมื่อตอนลูกชายของเขาเอ่ยถามว่าเหนื่อยไหม เขาโบกมือ แสดงสัญลักษณ์ว่า ไม่เหนื่อย เพื่อเป็นกำลังใจให้ลูกชายของเขา พี่คนนี้บอกว่าหลวงพ่อจะห่วงก็คงห่วงเรื่องเดียว คือห่วงพี่เขาเอง อาชีพที่ทำ ไม่ได้มีทรัพย์มากมายกว่าความภูมิใจในอาชีพ ซึ่งจริงๆแล้วจะว่าไป พี่คนนี้ยังติดหนี้ผมด้วยซ้ำไป จากวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน และยังไม่มีโอกาสจะได้ทวง
…ชั่วโมงต่อมา พวกเรา (พี่คนสนิท และ ผม) หอบหิ้ว ผลไม้ หนักกว่าสิบกิโลกรัม มีทั้งลองกอง ส้ม เงาะ แอปเปิล กลับมายังโรงพยาบาลสงฆ์
เราเอามาให้ พยาบาล บุรุษพยาบาล ทั้งหมด หวังว่าให้แบ่งรับประทานกัน รวมทั้ง มีส่วนเล็กๆ ฝากให้คุณหมอเจ้าของไข้ พยาบาลต่างยิ้ม บ่งบอกความพอใจ ท่ามกลางความคลางแคลงใจที่หายไป
เดาว่าเขาคงเข้าใจว่าเราแสดงความขอบคุณ
สิ่งที่พยาบาลในโรงพยาบาลทั้งหลาย ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ ทำอยู่ทุกวัน มีพระอาจารย์เคยบอกผมว่า พวกเขาเหล่านี้คือเทวดา คือเป็นอาชีพได้อุปถัมภ์คน
(โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลสงฆ์ จัดเป็นการปิดทองหลังพระ ด้วย ผมคิด)
ในสภาพสังคมที่ความขัดแย้งมีมากขึ้น เชื่อว่ายังมีคนที่เห็นและคอยให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ ในการทำบุญ ปฏิบัติธรรมในวิชาชีพอยู่เสมอๆ
ก็คงได้แต่เชิญชวนทุกท่าน หากเมื่อใดที่มีญาติป่วยเข้าโรงพยาบาล คนที่ทำงานในนั้นไม่ได้ต้องการอะไร หากเรามองด้วยสายตาที่เข้าใจ ย่อมทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดี ส่งผลบวกต่อการดูแลรักษามากขึ้นครับ
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
ป.ล.เรื่องผลไม้ ไม่สงวนสิทธิ์ หากมีญาติป่วยเข้ารักษาตามระบบ เราแสดงความขอบคุณให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ คิดว่าทุกฝ่ายคงมีความสุขครับ