สาธารณสุขกับคนรุ่นใหม่
ลงวารสารปฏิวัติความคิด ติดอาวุธปัญญา ฉบับที่ 23 – เมษายน 2554
ชเนษฎ์ ศรีสุโข bloggla.com
(1)
เดือนก่อนได้รับเชิญให้พูด ออกรายการ “คิดนอกกรอบกับคนรุ่นใหม่” ทางช่อง NBT ครับ http://www.youtube.com/watch?v=VNteNqQc0YU
ทีมงานถามเกี่ยวกับเรื่องปัญหาในระบบสาธารณสุขไทย ว่ามีอะไรบ้าง? เป็นคำถามที่ยากเหมือนกันครับ เพราะคนรู้ปัญหา คนเห็นปัญหามีเยอะ แต่คนที่จะแก้ไข-มีแรงแก้ไข-ยอมต่อสู้ตรากตรำแก้ไข มีจำนวนน้อยกว่า
อาชีพแพทย์ พยาบาล และบุคลากรในแวดวงสาธารณสุข ก็คงไม่ต่างกับคนที่ทำงานในระบบราชการอื่นๆ ตรงที่เราเห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่หลายคนคิดได้เพียงว่าเราเป็นคนตัวเล็กๆ หรือกลุ่มคนตัวเล็กๆที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ผู้มีคุณธรรมระดับหนึ่งบอกว่า ขอปฏิบัติหน้าที่ชอบเพียงส่วนของตน ช่วยเหลือคนอื่นได้บ้าง ก็เพียงพอแล้ว
แต่นั่นก็เท่ากับยอมรับระบบที่มีปัญหา และไม่ได้แก้ไขปัญหาเชิงระบบใดใด
ธรรมชาติของระบบราชการไทย …ยังเป็นเรื่องระบบอุปถัมภ์ค้ำจุน ระบบศักดินาตำแหน่ง อุ้มกันอยู่มาก ซึ่งจะไม่เสียหายอะไร (คุณอภิสิทธิ์เองยังเคยพูดเช่นเดียวกันนี้ครับ) ไม่เสียหายอะไรถ้าเป็นการอุ้มชูคนทำงาน อุ้มชูคนหัวก้าวหน้าที่ต้องการพัฒนาระบบ ต้องการพัฒนาประเทศชาติ
แต่ธรรมชาติของคนในระบบราชการทุกวันนี้ โดยเฉพาะระดับสูงๆแต่ไม่ใช่ระดับสูงสุด คือ ขอแค่อยู่ในตำแหน่งให้ได้นานที่สุด โดยที่คิดถึงผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง อุ้มชูเฉพาะพวกพ้องที่ทำให้ตนเองได้ประโยชน์สูงสุดนั้นต่อไป ระบบจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ปัญหาเชิงระบบจึงยังคงอยู่เสมอให้คนได้บ่นกันไปเรื่อยๆเป็นธรรมชาติ คนที่บ่นมากๆส่วนใหญ่ก็คือระดับปฏิบัติงาน ระดับล่าง แต่ก็ทำต่อไป
จริงๆก็อาจเป็นธรรมชาติของมนุษย์เราก็ได้นะครับ ที่ล้วนมองประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้งก่อน ลาภ ยศ สรรเสริญ เงินทอง เรื่องความดีอาจนับทีหลัง เพราะวัดค่าไม่ได้-คนลืมง่าย
(2)
การพัฒนาระบบสาธารณสุขไทย ถ้านับตั้งแต่ยุคคุณทักษิณมา ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรากฐานไปมาก ด้วยนโยบายประชานิยม ทำให้คนเข้าถึงการรักษามากขึ้น แต่ก็คุณภาพการรักษาต่ำลงเช่นกัน จนแพทย์กับผู้ป่วยมีปัญหากันมากขึ้น นักการเมือง-คนมีเงินหนีไปเอกชน คนยากจนอยู่รัฐบาล รักษาตามอัตตภาพ
ยุคทักษิณ นับเป็นความสำเร็จ ในการเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขที่มีทั้งคุณและโทษอนันต์ ซึ่งเกิดจากการผลักดันของกลุ่มผลประโยชน์การเมือง ร่วมกับแพทย์สายอุดมการณ์ ผู้กำหนดนโยบาย(อาจารย์สงวน นิตยรัมภ์พงษ์-เสียชีวิต และอีกสี่เสือแพทย์ชนบท) มีการก่อตั้งองค์กรเพิ่มเติมขึ้นมากมายซึ่งบริหารงานคล้ายมหาชนและเอกชน เป็นทางเลือกในยุคหลังสำหรับการเปลี่ยนแปลงระบบราชการ
เรื่องนี้นักพัฒนาหลายๆคนเห็นพ้องต้องการว่าการบริหารงานในระบบมหาชนนั้น คือทางเลือกในการปฏิรูปประเทศต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องรอกลไกแบบราชการไทยเองที่เชื่องช้าและขาดประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม หากถามบุคลากรในวงการสาธารณสุข โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงาน จะรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงในสมัยทักษิณ ทำให้ภาระงานมากขึ้น ในขณะที่การเห็นใจ การเข้าใจ ผู้ปฏิบัติงานลดลง
คงเป็นการดีหากผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบาย จะลงมาสัมผัส และคำนึงถึงวิถีชีวิตของผู้ปฏิบัติงานให้มากขึ้น การทำงานบนหอคอยงาช้างหรือทำงานด้วยปาก ไม่สามารถพัฒนาระบบได้อย่างยั่งยืนครับ
(3)
โรงพยาบาลรัฐบาล ประสบปัญหาจำนวนผู้ป่วยมาก ขาดแคลนทรัพยากรบุคคลอยู่มาก อุปกรณ์ก็ขาดแคลน(เอางบประมาณไปทุ่มผิดส่วนหรือคอรัปชั่น) ท่ามกลางความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนไป ความต้องการที่มากขึ้น เหมือนอยากได้ทานอาหารญี่ปุ่นสุดหรูในขณะที่มีเงินให้ทานได้เพียงข้าวแกง30บาท ประชาชนไม่เข้าใจว่ารัฐบาลออกเงินเหมารวมรายหัวจ่ายประชาชนต่อปีในราคาที่ต่ำกว่าค่ามือถือที่เคยเสียให้คุณทักษิณในเวลาเท่ากัน นโยบายประชานิยมที่ว่าจึงขาดซึ่งคุณภาพ
แพทย์ลาออกจากระบบราชการไปมาก ไปอยู่เอกชนที่สบายใจกว่า รายได้ดี สิทธิและระบบคุ้มครองดีกว่า…
มองแล้ว ปัจจุบัน แพทย์ไทยจำนวนมาก ก็เป็นลูกจ้าง ขึ้นอยู่กับว่า รับใช้นายทุนคนไหน นายทุนข้ามชาติเจ้าของโรงพยาบาลเครือใด ส่วนแพทย์อุดมการณ์ที่ยังทำงานให้รัฐบาลให้ประชาชน ก็กล้ำกลืนฝืนทนกับระบบต่อ อาจารย์แพทย์ส่วนหนึ่งเมื่ออาวุโสขึ้น สบายตัวขึ้น ก็ทำงานเช้าชามเย็นชามติดนิสัยข้าราชการไทย ให้แพทย์ประจำบ้าน(แพทย์ที่เรียนต่อเฉพาะทาง) และชนชั้นแรงงานทำงานกันหนักกันต่อไป ประชาชนได้รับการรักษากับแพทย์ที่ประสบการณ์น้อยกว่า แต่เลือกไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาเชิงระบบ
แพทยสภา องค์กรเพื่อผลประโยชน์เพื่อนแพทย์และประชาชน ทำงานกันมายาวนาน เลือกตั้งหลายครั้งก็ได้กรรมการบริหารชุดเดิมๆ นายกคนเดิมๆ เปลี่ยนกันบริหารในองค์กร เวลาเลือกตั้งแพทย์ใช้สิทธิเลือกกันไม่ถึง 20% สะท้อนปัญหาแพทย์จำนวนมากในประเทศ ไม่ได้ใส่ใจหรือให้ความร่วมมือกับแพทยสภาในการผลักดันเรื่องราวต่างๆ เท่าที่ควร ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าแพทย์ส่วนใหญ่ก็คงเอาแต่ทำงานไปวันวัน
ระยะยาวจะเกิดปัญหาขึ้นอีกมาก และไม่ใช่เฉพาะสังคมแพทย์เท่านั้น หากประชาชนในแวดวงหรือสังคมใด วิพากษ์วิจารณ์มาก แต่ไม่คิดร่วมมือกันทำอะไรเลยสักอย่าง ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เรากำลังรอคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าที่รวมพลังกัน ใส่ใจสภาพสังคมที่เป็นอยู่มากกว่าผลประโยชน์ตนเองให้มากขึ้น และมีแนวทางปฏิรูประบบที่ดีร่วมกันครับ
(4)
การเจ็บป่วยของมนุษย์ ผู้ป่วยควรเป็นผู้ดูแลและพยายามป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยอีก การดูแลรักษาสุขภาพตนเองเป็นหน้าที่ของทุกคน นะครับ
ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ผมพบเห็น ป่วยเพราะพฤติกรรมของตนเอง พฤติกรรมการรับประทานอาหาร การอ้วน การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การมีโรคประจำตัวมาก เช่นเบาหวาน ความดันฯลฯ แล้วรับประทานยาไม่ครบ การไม่มาติดตามการรักษาตามนัดแพทย์ การไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำในการรักษาโรค
ไม่นับธรรมชาติของโรค หลายโรครักษาแล้วหาย หลายโรครักษาแล้วไม่หายสนิท หลายโรครักษาไม่ได้…
แพทย์จึงชื่นชมผู้ป่วยที่ปฏิบัติตามคำแนะนำเป็นอย่างดี อีกทั้งพยายามหาความรู้เรื่องโรคที่เป็น เข้าใจโรคที่เกิดขึ้น และมีการดูแลรักษาตัวเองเพิ่มเติมที่ดีอีกด้วย
ปัญหาความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เกิดการจากสื่อสารกันที่น้อย เวลาไม่มาก ดังนั้น คงอาศัยการพูดคุยกันที่มากขึ้น ความเข้าใจก็จะเพิ่มขึ้นครับ
(5)
สุดท้ายนี้ พูดถึงงานทางด้านสาธารณสุขไทย ยังมีหลายส่วนให้ผู้คนร่วมกันพัฒนานอกเหนือจากการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล มีคนในแวดวงสาธารณสุข ที่ลงไปทำงานใกล้ชิดชาวบ้านเพื่อรณรงค์ ให้ความรู้ หรือมีการพัฒนาเชิงสาธารณสุขตั้งแต่ระดับชุมชน โดยอาศัยการสนับสนุนจากหน่วยงานในสังคมต่างๆ
เรื่องที่ประสบความสำเร็จเป็นตัวอย่างระดับโลก เช่น เรื่องเหล้า เรื่องบุหรี่ เรื่องเอดส์ เรื่องลดความเครียด
เชื่อว่ายังมีคนดี คนมีจิตอาสาที่ใส่ใจเรื่องราวเหล่านี้อยู่ หากรวมตัวกันได้ จะสร้างประโยชน์ให้วงการสาธารณสุขไทยอีกมากครับ