เกิดแต่จม
(ฉบับปรับปรุง ลงหนังสือ “จากพี่…สู่น้อง” เผยแพร่งานจัดสรรพื้นที่บุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศ 1 เมษายน 2554)
ชเนษฎ์ ศรีสุโข
(1)
เหตุการณ์ที่จะบอกเล่านี้ เป็นตัวอย่างกรณีผู้ป่วยที่น่าสะเทือนใจ
ผมเป็นคนที่เวลาอยู่เวรแล้วชอบมีงานเข้า… กล่าวคือผู้ป่วยมากันจำนวนมากครับ เมื่อเทียบกับเวรเพื่อนคนอื่นๆ
สมัยเรียนแพทย์ปีสุดท้าย ครั้งหนึ่ง ได้มีโอกาสอยู่เวรนรีเวชประจำห้องฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง
24 ชั่วโมงนั้น เรียกว่าทำงานไม่หยุดและรับผู้ป่วยนรีเวชไป 9 ราย
ความหลากหลาย มีตั้งแต่ท้องนอกมดลูกบริเวณแถวปีกมดลูกแตก เลือดออกในท้อง ผู้ป่วยช็อก ชีพจรเบา ความดันโลหิตตกต่ำ ส่งตัวมาผ่าตัดด่วน ขอเข้าไปช่วยผ่าตัดมือสี่ เปิดท้องเข้าไปเลือดท่วม 3 ลิตร พี่แพทย์ประจำบ้านคนผ่าตัดฝีมือเยี่ยมช่วยชีวิตผู้ป่วยสำเร็จ…
ได้ช่วยพี่ขูดมดลูกฉุกเฉินผู้ป่วยอีกรายที่มาด้วยเรื่องเด็กเสียชีวิตในครรภ์ และแท้งไม่สมบูรณ์ (หลุดออกมาไม่ครบ) และที่เหลือส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องแท้งทั้งสิ้น
ความตกใจเกิดขึ้นเมื่อ เช้าวันนั้น ก่อนจะลงเวร (7:30น) ซึ่งปกติเป็นเวลาที่ไม่น่าจะมีผู้ป่วย หรือพยาบาลมักไม่ตาม พี่พยาบาลห้องฉุกเฉินได้โทรตามตัวผมขณะราวน์คนไข้บนวอร์ดอยู่ ในฐานะนักศึกษาแพทย์ปี6 ซึ่งเป็นผู้น้อยสุดก็ต้องมาดูผู้ป่วยก่อนใครเพื่อน
พบผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 26ปี อาชีพขายของ บอกมีสามี (33ปี) จดทะเบียนสมรส ขายของด้วยกัน ผู้ป่วยรูปร่างผอม ทำหน้าตานิ่งๆ มีลูกแล้วสองคน คนเล็ก4ขวบ เคยแท้งหนึ่งครั้ง ครั้งนี้มาด้วยอาการปวดท้อง เลือดออกทางช่องคลอด ให้ประวัติประจำเดือนขาดไปเป็นปี ตรวจปัสสาวะพบว่าตั้งครรภ์ ถามว่าเคยตรวจเองก่อนหน้านี้หรือไม่ ผู้ป่วยบอกไม่เคย ถามว่าลูกดิ้นหรือเปล่า บอกว่าดิ้นมาได้เดือนสองเดือนแล้ว(แสดงว่าเด็กน่าจะโตแล้วเหมือนกัน 5-6เดือน) อยากได้ลูกไหม บอกว่าอยากได้ลูก แต่ไม่มีประวัติฝากครรภ์(ฝากครรภ์ คือเมื่อตั้งครรภ์ สตรีมีครรภ์ไปพบแพทย์ เพื่อการติดตามทั้งแม่และเด็กดูแลให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่น ตลอดจนถึงการคลอด) ซึ่งน่าแปลกใจ สมัยตั้งครรภ์ลูกสองคนก่อนก็เข้าฝากครรภ์
ผู้ป่วยมาถึง ผมเดินมาซักประวัติได้สักพัก เห็นปวดท้องมาก เลยพาไปห้องตรวจภายใน โทรตามพี่แพทย์ประจำบ้าน ระหว่างรอนั้น กำลังให้เธอขึ้นเตียงตรวจ ยังไม่ได้คลำท้อง แต่ดูหน้าท้องไม่ใหญ่นัก เธอบอกเธอปวดปัสสาวะมาก ผมแนะนำว่าอย่าเพิ่งไปไหน ถ้าจะมีอะไรออกมาก็ให้ออกบนเตียงตรวจก็ได้ เธอไม่ยอม เธอบ่นเซ้าซี้สี่ห้าครั้ง รั้งไม่ไหวจึงปล่อยให้เธอไปห้องน้ำ ในใจผมก็กลัวเช่นกัน เลยบอกผู้ป่วยว่าหากมีอะไรหลุดออกมาอย่าเพิ่งกดลงชักโครก รอหมอไปดูก่อน ยืนรอหน้าห้องน้ำ ได้ยินเสียงชักโครก เลยตะโกนถามว่ามีอะไรออกมาแล้วอย่าเพิ่งกด ผู้ป่วยก็เงียบไป…
เผอิญพี่แพทย์ประจำบ้านมาพอดี เลยเดินไปรายงานประวัติคร่าวๆ บอกว่าผู้ป่วยไปเข้าห้องน้ำ แต่กลัวแท้งในห้องน้ำ เลยพากันกับพี่แพทย์ประจำบ้านไปยืนรอหน้าห้องน้ำ ตะโกนบอก พูดคุยกับผู้ป่วย เธอไม่ตอบ เงียบ ผมเริ่มคุยกับพี่แพทย์ประจำบ้านว่าคนไข้เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเชื่อหมอ เวลามีอะไรหลุดชอบกดชักโครกทิ้ง ทั้งที่เอามาจะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยได้มากกว่า
สักพัก เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็มาถึง เสียงชักโครกตูม ตูม โคร่ก โคร่ก อยู่หลายครั้ง พร้อมน้ำราดชักโครกตลอดเวลา จนน้ำไหลตามพื้นออกมานอกห้องน้ำพร้อมเลือดสีแดงนองพื้น ผมแปลกใจ ตะโกนห้ามกันใหญ่พร้อมเคาะประตู
และแล้ว… เธอก็ออกมา เลือดเปื้อนเต็มผ้าถุงขาวๆ เลือดออกจากช่องคลอดไม่หยุด ด้วยความเนียน เธอบอกว่ามีอะไรหลุดออกมาไม่รู้
ผมและพี่แพทย์ประจำบ้านเดินเข้าไปให้ห้องน้ำ สิ่งที่เห็นซึ่งไม่เคยคิดก่อนว่าจะได้เห็น คือเด็กน้อยตัวเป็นๆหัวทิ่มก้นโผล่ พร้อมรกครบ ทุกอย่างจมน้ำอยู่ ที่ตกใจมากเพราะไม่คิดว่าเด็กน้อยจะตัวใหญ่แล้ว รีบเอาเด็กขึ้นมา แม่ทำเป็นไม่รู้เรื่อง บอกนึกว่าเป็นอุจจาระ…
(2)
เธอผู้เป็นแม่ ยังถามว่า “ลูกหนูเป็นอย่างไรบ้าง”
เด็กเกิดใหม่หนัก 1500 กรัม พร้อมรกครบ นอนเขียวทั้งตัว ไม่หายใจ หัวใจไม่เต้น มีกล้ามเนื้อกระตุกบ้างนานๆครั้ง เป็นภาพน่าเวทนายิ่งนัก ประเมินอายุครรภ์ 7-8เดือนได้แล้ว ถ้าไม่เพราะถูกกดน้ำ ก็คงยังสามารถช่วยชีวิตได้ ในกรณีเด็ก 7-8 เดือน เช่นนี้ ไม่เรียกแท้งล่ะครับ เรียกลูกตาย พี่วินิจฉัย Neonatal death แพทย์ไม่สามารถช่วยเหลือชีวิตได้ทัน
สาเหตุการตาย จมน้ำเวลาประมาณ 5 นาที…
ผู้ป่วยยังร้องขอไม่ให้บอกแฟน…
คิดในแง่ดี จะเป็นไปได้ไหมว่าลูกออกจากช่องคลอดแล้วแม่ไม่รู้ เข้าใจว่าเป็นอุจจาระ เผลอกดน้ำจนเมื่อกดไม่ลงแล้วจึงให้หมอเข้าไปดู?
เป็นไปได้ไหมว่าจริงๆแล้วแม่ต้องการบุตรตามที่อ้าง ไม่ได้ไปเหนี่ยวนำหรือไปทำแท้งใดใดมาก่อน
เป็นไปได้ไหมว่าแม่สภาพจิตใจไม่ปกติ เลยก่อการเช่นนี้
ผมคงได้แต่นั่งครุ่นคิดอยู่ในใจ ไม่คิดเลยผู้ป่วย-คุณแม่จะทำได้ลง…
(3)
โดยปกติ เมื่อเกิดเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ คนเรามักปฏิเสธความจริงก่อน (Denial) บางทีอาจโยนความผิดให้สิ่งรอบกาย Extrojection [เคยเขียนแล้วเรื่อง Grief reaction www.demo-crazy.com ฉบับพิเศษ(12)]
คนเจ็บป่วยอาจโทษเวรกรรม คนประสบอุบัติเหตุมักโทษคู่กรณี นักฟุตบอลแพ้โทษกรรมการ โทษผู้เล่นด้วยกัน
แต่สำหรับผม คงต้องย้อนมองความผิดตนเองในครั้งนี้ ทบทวนว่าผมไม่ควรปล่อยเธอไปห้องน้ำเลยครับ…
(4)
มุมมองทางสาธารณสุข
ปีก่อน เราคงได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้ง และศพทารกจำนวนมากมายหลายพันชีวิต…
สะท้อนความจริงของสังคมไทย เมืองพุทธที่มีการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์อยู่มาก และส่วนหนึ่งหาทางออกโดยการตัดสินใจทำแท้ง…? หรือเปล่า
มองผิวเผินผู้ใหญ่หลายคนจะโทษวัยรุ่นใจแตก แต่จริงๆแล้ววัยรุ่นใจแตกที่ไม่ท้องก่อนเพราะคุมกำเนิดดีก็มีอีกมาก และหลายคนแม้จะใจแตกอย่างไรก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปทำแท้ง ท้องจนคลอดก่อนเสร็จ กลับไปเรียนหนังสือต่อก็มี บ้างคลอดแล้วเอาลูกไปทิ้ง บ้างคลอดแล้วบีบคอลูก ก็มีข่าวประปราย
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้งคือ การตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ เกิดในวัยกลางคน และวัยรุ่น พอๆกัน (จากผลการสำรวจและวิจัยหลายสำนัก) ครับ แปลว่า ไม่ได้มีเฉพาะวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์
และในประเทศไทย ยังมีคลินิกทำแท้งหลายที่ ที่ได้รับการยกเว้นไว้เป็นที่รู้กันในวงการ สำหรับเป็นทางเลือก…
ดังนั้นศพที่เราเห็น ล้วนแต่เป็นบุตรผู้ที่มีศักยภาพ มีเงิน หรือมีการตัดสินใจแล้วว่า จะเอาเด็กออก โดยคำนึงหรือไตร่ตรองซ้ำแล้วซ้ำอีก ถึงประโยชน์ของการทำแท้งนั้น ว่าน่าจะดีกว่าอุ้มลูกจนคลอด บางคนเป็นกรณีผิดพลาดจากการคุมกำเนิดก็มีแต่ไม่สามารถทำแท้งอย่างถูกกฎหมายได้
ทารกสองพันศพ หาใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่! ลองคิดให้ดี ทารกสองพันศพ เป็น “ทางออก” ของปัญหาให้บุคคลบางกลุ่มไปเรียบร้อยแล้วมิใช่หรือ? สิ่งที่สังคมพยายามสร้างปัญหาขึ้นมาใหม่คือ การบอกว่าสังคมเองไร้ระบบตรวจสอบคุณธรรม จริยธรรม มโนธรรม เป็นผลดีครับได้เตือนใจและเป็นโอกาสให้ผู้คนมาร่วมกันให้ความรู้ประชาชน แต่ระยะยาวควรมีมาตรการหรือนโยบายขับเคลื่อนที่เป็นไปได้จริงระดับชาตินะครับ
สิ่งที่ผมอยากจะบอกกล่าวคือ… การทำแท้งเป็นปัญหาปลายเหตุ
คนมักถามหมอ ว่าหมอจะทำอะไร อย่างแรงก็คือสนับสนุนและสอนกันเองให้เวลาทำแท้ง ทำอย่างถูกวิธี ไม่เป็นอันตรายต่อตัวแม่ อย่างอนุรักษ์นิยมก็คือเลิกสอนวิธีการทำแท้ง ห้ามแพทย์ทุกคนทำแท้ง ปัญหาตามมาก็คือ คนที่อยากทำแท้งก็ไปทำแท้งเถื่อนให้อันตรายถึงแก่ชีวิตอยู่ดี
ทางแก้ปัญหาการทำแท้ง คงต้องใช้หลักกฎหมายและผู้ปฏิบัติที่เคร่งครัด ว่าจะห้ามหรือจะอนุญาต ก็ควรให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ตั้งครรภ์ครับ (ส่วนประเด็นทารกในครรภ์นั้นคงพูดกันยาวจนไม่ได้ข้อสรุป)
อยากจะพูดถึงปัญหาจริงๆของสังคมไทย คือ การท้องจนคลอดโดยไม่มีศักยภาพพอในการเลี้ยงดูลูกตนเอง
ปัญหาประชากรที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ทุก15-20ปี เมื่อแม่ของลูกอายุน้อย ร่างกายไม่พร้อม วัยวุฒิ คุณวุฒิ ไม่พร้อม การไม่ได้เตรียมตัวเป็นพ่อคนแม่คน การไม่สามารถสร้างครอบครัวที่อบอุ่น ไม่มีทรัพยากรที่จะสนับสนุนให้ลูกของตนเติบโตในสังคม เรียนรู้ในสังคม หรือสอนให้พึ่งตนเองได้ (อาจมีส่วนน้อยที่เป็นข้อยกเว้น) ต่างหากครับที่เป็นปัญหา
ประชากรที่เกิดมาจากกลุ่มผู้ปกครองนี้ส่วนใหญ่ จะสร้างภาระปัญหาให้กับประเทศชาติอีกมากครับ และเป็นวัฏจักรที่ไม่จบสิ้น…
ประเทศไทยเราเปิดเสรีการมีลูกครับ แต่กลับไม่มีวาระแห่งชาติในการพัฒนาคุณภาพประชากร
ทางออกของประเทศไทยตอนนี้ ในระดับนโยบาย หากต้องการควบคุมคุณภาพประชากรให้ดีขึ้น ต้องออกนโยบายการควบคุมประชากร เช่น ให้แต่ละบ้านมีลูกได้1คน คือการควบคุมจำนวน คนไทยก็จะไม่พอใจอยู่ดีหาว่ารัฐบาลเผด็จการไม่รักเด็ก และคงหานักปฏิรูปหรือนักการเมืองที่กล้าทำ ได้ยาก
ส่วนการควบคุมคุณภาพหรือปฏิรูประบบราชการกลายให้เป็น รัฐสวัสดิการที่มั่นคงก่อน ตลอดจนมีการคัดเลือกและส่งเสริมกลุ่มประชากรรุ่นใหม่ผู้มีความสามารถพิเศษ มีศักยภาพ ในด้านต่างๆตามถนัด
ในส่วนหลังที่พูดถึงนี้ มีหน่วยงานหลายส่วน ทั้งรัฐบาล มหาชน เอกชน จิตอาสา ฯลฯ ทำอยู่มาก และหวังว่าในอีกสิบปียี่สิบปีถัดไป คุณภาพประชากรไทยส่วนหนึ่งจะดีขึ้น และมาช่วยกันพัฒนาประเทศชาติและชนรุ่นถัดไปครับ
หนังสือ “จากพี่… สู่น้อง”
อะโห น้องกล้า… พี่ปลื้มมากกกก กด like 100 ครั้ง ^^