แพทย์ กับผู้ป่วย
แพทย์ กับผู้ป่วย
ตอนเรียนแพทย์ ปีต้นๆ มักได้ยินคำพูดที่ว่า
“หมอ ย่อมาจาก ห-ให้ ม-มอบ อ-อุทิศ”
สมัยนั้น ได้แต่เข้าใจเพียงผิวเผิน ว่านักเรียนแพทย์ควรจะต้อง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตา พยายามให้การรักษา การดูแลผู้ป่วย โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
คำพูดนี้ จะเข้าใจดีขึ้น ก็ต่อเมื่อได้เรียนชั้นปีสูงขึ้น หรือเมื่อจบเป็นหมอแล้ว
เพราะคำว่า “ให้ มอบ อุทิศ” ของหมอนี้ ย่อมเกิดจากการสัมผัสผู้ป่วย สัมผัสชีวิตจริง สัมผัสโรคจริงให้เกิดความรู้สึกชัดแจ้งในการปฏิงานบนโรงพยาบาล มีภาระรับผิดชอบดูแลผู้ป่วย เดินราวน์(ดูผู้ป่วย) ทุกวัน เช้า-กลางวัน-เย็น ตกกลางคืนก็ต้องอยู่เวร มีการทำหัตถการทั้งหลาย ตั้งแต่การเย็บแผล-ฉีดยา ใส่ท่อช่วยหายใจ-สวนสายปัสสาวะ ต่างๆ จนไปถึงการผ่าตัดให้ห้องผ่าตัด การทำคลอด ฯลฯ
การเรียนแพทย์ จึงหาใช่เพียงการอ่านหนังสือมากๆ ดั่งที่หลายๆคนเข้าใจ เท่านั้น
จักประกอบด้วยการเรียนรู้ด้วยตนเอง ในการทำงานบนโรงพยาบาล ศึกษาหาความรู้จากผู้ป่วยต่างหาก
การสัมผัสผู้ป่วย รักษาผู้ป่วย ถึงจะได้เข้าใจชีวิตการเป็นหมอ ที่แท้จริง
ในยุคปัจจุบัน ที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วย กับแพทย์ เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต
มีคดีฟ้องร้อง ต่างๆ มากขึ้นอาจจะเห็นได้จากหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นข่าวการรักษาที่ผิดพลาด, การรักษาที่ทำให้ประชาชนมองว่าแพทย์บกพร่อง ฯลฯ
ปัจจุบัน ตัว อ. จากคำว่า หมอ จึงย่อมหมายถึง อ-อดทน ด้วย
ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อน พี่ น้อง จำนวนมากที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวงการสาธารณสุข หลายคนให้ความคิดเห็นเชิงลบกับวงการแพทย์ เมื่อได้รับข่าวจากสื่อครั้งใดที่โจมตีแพทย์อย่างรุนแรง คนเหล่านี้ มักมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นวิจารณ์กันพบว่า หากใช้ปัญญาพิเคราะห์พิจารณาในความเป็นจริง ในมูลเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดข่าวต่างๆแล้ว หลายกรณีเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้ป่วยและญาติ หรือขาดความรู้จริงในเรื่องทางการแพทย์ มากกว่าที่จะเป็นไปตามกระแสกระพือของสื่อหลายสำนัก ที่พยายามขายข่าว และชี้นำสังคมให้แตกแยกกล่าวหาว่าแพทย์ชุ่ย แพทย์ไม่รับผิดชอบ แพทย์เข้าข้างกันเอง
ในวงสนทนา ที่นำข้อเท็จจริงทางวิชาการมาพูดคุยกัน บางคนเข้าใจมากขึ้น และถึงกับว่า “ที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครพูดให้ความกระจ่างเลย”
ดังนั้น คำว่าหมอ ย่อมต้องประกอบไปด้วย “ความเข้าใจ” อีกด้วย
นอกจากจะเข้าใจในทางวิชาการอย่างถ่องแท้
หรือ เข้าใจการรักษาผู้ป่วย
ย่อมต้องเข้าใจ “จิตใจผู้ป่วย” เป็นสำคัญ
ทุกวัน ที่เดินในโรงพยาบาลของรัฐบาลนี้ จะเห็นผู้ป่วยจำนวนมากมาย มารอเข้าคิวรักษา บางคนรอตั้งแต่เช้าจรดเย็น บางคนรอจนเย็นแล้วก็ไม่ได้รับการรักษา บางคนมาแล้วไม่พบแพทย์ บางคนมาผิดวัน ฯลฯ
จะเห็นผู้ป่วยที่ล้วนมาด้วยโรคทางกาย กล่าวคือ ทุกข์กายเป็นอย่างมากแล้ว
และยิ่งมารอนาน ตามระบบรัฐ เสียเวลา ก็เสียอารมณ์
หลายคนทำใจไม่ได้ ยิ่งเวลารักษา พบแพทย์ หรือพยาบาล ที่ทำอะไรให้รู้สึกไม่สบายใจ ก็กลายเป็น การทุกข์ใจ
ทุกข์กาย ทุกข์ใจ โรคที่เป็น นอกจากจะยังไม่หายแล้ว ก็กลายเป็นสร้างโรคขึ้นมาใหม่ “โรคทะเลาะเบาะแว้ง”
สิ่งเหล่านี้ มักจะดีขึ้น หากได้มีการพูดคุยกันที่มากขึ้นระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย เข้าใจกันมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยเวลาในการรักษาที่น้อย เพียง5-10นาทีต่อคน เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจรักษาผู้ป่วยที่มารอได้จำนวนมากๆ การพูดคุยก็น้อยลงด้วย ต้องขอให้ท่านผู้อ่านที่ย่อมป่วยเป็น ได้พิจารณา
การทำให้การรักษาของแพทย์ โปร่งใส รวมถึงการพูดคุยให้ผู้ป่วยเข้าใจมากขึ้น เป็นเรื่องสำคัญดังที่กล่าวไป ในวงการแพทย์เองได้เน้นย้ำเสมอ อาจารย์แพทย์จำนวนมากพยายามเคี่ยวเข็ญกับนักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ ถึงการใช้ทักษะการสื่อสารที่เหมาะสมต่อผู้ป่วย และจริงๆแล้ว ในโลกนี้ การพูดคุยดีดี อย่างที่คนเรียกว่า “สุนทรียสนทนา” ใช้ภาษาสุภาพ และให้ความรู้สึกของความเป็นมิตร ชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริง ของโรค รวมถึงให้ผู้ป่วยและญาติมีส่วนร่วมในการรักษาตนเอง
สมัยตอนผมอายุน้อย เป็นเด็กต่างจังหวัด จะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ในชนบทกับผู้ป่วย พบว่ามีความเป็นมิตรไมตรีกันมาก เหมือนครอบครัวเครือญาติ ที่ช่วยเหลือกันโดยไม่ได้เอาเรื่องของเงินหรือของบริการเข้ามาเกี่ยวข้องมาชี้นำ
ไม่เหมือนแพทย์ในเมือง หรือแพทย์ทุกวันนี้ ที่ผ่านพ้นนโยบายของรัฐบาลบางรัฐบาลในหลายปีที่ผ่านมา มีการกดขี่ใช้แรงงานแพทย์อย่างหนัก รวมถึงทำให้ผู้ป่วยมีความต้องการ ความคาดหวังมากขึ้น ผู้ป่วยหลายคนเข้าใจว่าบัตรทองคือบัตรวิเศษที่สามารถใช้ในโรงพยาบาลรัฐเหมือนบัตรวีไอพีในห้างสรรพสินค้า ท่ามกลางความเข้าใจแพทย์น้อยลง รัฐบาลบางยุคสมัยทำนโยบายเหมือนรักษาฟรีแต่ยาคุณภาพต่ำลง เห็นชีวิตของคนถูกกว่าค่าโทรศัพท์มือถือรายเดือน
คนที่อยากได้รับการรักษาดีก็ไปโรงพยาบาลเอกชนด้วยความคาดหวังมาก
กลายเป็นธุรกิจการรักษาพยาบาลไป เห็นแพทย์เป็นผู้ให้บริการ ผู้ป่วยเป็นผู้เสียเงินใช้บริการ
ในเมืองกรุง จึงจะเห็นว่าเมื่อเอาทุนนิยม หรูหรา อู่ฟู่ นำหน้า ทุกวันนี้ธุรกิจโรงพยาบาลหรูหราดังโรงแรม ผุดขึ้นมากมาย ขายบริการทางสุขภาพ แต่ไม่ว่าที่ใด เมื่อนำเพียงเงินและการบริการนำหน้าโดยไม่สนใจความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยแล้ว มักมีข่าว-เหตุการณ์ความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ดีนัก ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย หรือการฟ้องร้องเกิดขึ้นเสมอ
แพทย์หลายคนชอบชีวิตในชนบทมากกว่า แต่เอาเข้าจริงๆแพทย์ในชนบทมีน้อย
ทุกวันนี้ที่พูดกันว่าปัญหาแพทย์ขาดแคลน จริงๆแล้วไม่ขาดแคลน เป็นเพราะกระจุกตัวกันอยู่ในเมืองกรุงมากกว่า จากหลายเหตุผล เช่น รายได้ดีกว่า ความสะดวกสบายมากกว่า แพทย์หลายคนชอบชีวิตความเป็นอยู่แบบชาวเมืองกรุง หรืออีกหลายเหตุปัจจัย
อย่างไรก็ตาม แพทย์เป็นอาชีพที่หากประพฤติปฏิบัติดี เชื่อว่าสุดท้ายแล้วผู้ป่วย และสังคมย่อมมองเห็น
ในโรงพยาบาลที่ผมอยู่ ยังได้เห็นมิตรไมตรีจิตระหว่างแพทย์-ผู้ป่วย อยู่เสมอ การช่วยเหลือทั้งด้านการรักษา และการเยียวยาจิตใจ การทำความเข้าใจกับญาติผู้ป่วย จะเห็นอาจารย์แพทย์ พี่แพทย์ประจำบ้าน ที่พยายามช่วยเหลือ รักษาผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถ ให้ความรู้และทำความเข้าใจกับผู้ป่วยและญาติ จนสุดท้ายแล้ว แม้ว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิต แต่ญาติเข้าใจ และไหว้ขอบคุณแพทย์ที่ได้ช่วยเหลืออย่างถึงที่สุดแล้ว
มีอีกกรณีหนึ่ง อาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า “ที่พี่มาเป็นหมอทุกวันนี้ สิ่งที่ยินดีที่สุดเลย คือเมื่อพยายามช่วยเหลือผู้ป่วยคนหนึ่งที่กำลังจะตาย อย่างเต็มที่ สุดความสามารถ จนเขารอดได้อย่างปาฏิหาริย์ ความรู้สึกนั้น คือ ที่สุดแล้ว แห่งความเป็นแพทย์ ผู้ป่วยและญาติก็ยินดีพึงพอใจกับเรา เปรียบดังเทวดาของผู้ป่วย”