หนังสือเรียนปรึกษาชี้แจง และเสนอแนวทางการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน นักศึกษาแพทย์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ ภาคพรีคลินิก (ชั้นปีที่ 1-3)
ตอนนี้ ข้าพเจ้ามีโครงการจะเขียน แถลงการณ์ความจริง เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์
ขอปรึกษาชี้แจงและเสนอแนวทางการพัฒนา
คุณภาพการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์
วิทยาลัยแพทยศาสตร์ ภาคพรีคลินิก
มหาวิทยาลัยรังสิต
27 กรกฎาคม 2550
เรียน อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต
เรื่อง ขอปรึกษาชี้แจงและเสนอแนวทางการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์
วิทยาลัยแพทยศาสตร์ ภาคพรีคลินิก
มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแนวหน้าของประเทศไทย มีชื่อเสียง มีภาพลักษณ์ดีงาม เป็นสถาบันที่มีศักยภาพ และมีการพัฒนาที่ดีมาโดยตลอด สามารถผลิตบัณฑิตที่จบออกไปเป็นบัณฑิตคุณภาพ และสร้างบัณฑิตในสาขาที่ตรงกับความต้องการของประเทศ ดังปณิธานที่มหาวิทยาลัยรังสิตตั้งไว้ นอกจากนี้การเปิดคณะหรือสาขาใหม่ๆเพิ่มขึ้น เพื่อให้นักศึกษามีทางเลือกในการเรียน ทำให้มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นสถาบันวิชาการ ที่รวบรวมความรู้ศาสตร์และนักวิชาการแขนงต่างๆ ทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้การบริหารงานของท่านอธิการบดีที่เป็นทั้งนักบริหารและนักการศึกษา ที่มีวิสัยทัศน์ มีประสบการณ์ และผลงานมากมายในการบริหารงานระดับชาติอย่างต่อเนื่อง ทำให้มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นสถาบันแห่งหนึ่งของสังคมที่หล่อหลอมพัฒนาบุคลากรของประเทศ สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ต่อสังคม มหาวิทยาลัยรังสิตยังจัดกิจกรรมระดับประเทศ ระดับนานาชาติ อันสร้างชื่อเสียงและประโยชน์ให้กับประเทศ อาทิ การเป็นเจ้าภาพประธานฝ่ายพิธีการและพิธีเปิด–ปิดกีฬาการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ หรือ การทูลเกล้าฯถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน เมื่อปลายปีที่ผ่านมาอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยความสามารถท่านอธิการมหาวิทยาลัยรังสิตที่นำชื่อเสียง และความภูมิใจมาสู่มหาวิทยาลัยรังสิต
ในด้านการผลิตบัณฑิตแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ตามแนวความคิดที่มุ่งหวังให้วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นสถาบันแพทย์เอกชนชั้นนำของประเทศ และมีคุณภาพเทียบเท่ากับสถาบันแพทยศาสตร์ชั้นนำในต่างประเทศ เช่นมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ในปัจจุบันวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ก่อตั้งและเปิดดำเนินการเรียนการสอนมาเป็นเวลา 19 ปี ผลิตบัณฑิตแพทย์ไปแล้ว 13 รุ่น กว่า 700 คน ทั่วประเทศ การจัดการเรียนการสอนมีทั้งส่วนของภาคพรีคลินิก ผ่านทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และภาคคลินิกผ่านทางสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์–มหาวิทยาลัยรังสิต นับเป็นวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ของอธิการบดี และอดีตนายกสภามหาวิทยาลัย (ท่านประสิทธิ์ อุไรรัตน์) ที่สร้างความร่วมมือในการผลิตแพทย์ ระหว่างรัฐและเอกชน อีกทั้งเลือกโรงพยาบาลราชวิถีและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และมีความทันสมัยเป็นอันดับต้นของประเทศ และภูมิภาคเอเชีย เป็นที่ฝึกภาคคลินิก ให้กับนักศึกษาแพทย์ โดยการร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดตั้งเป็นสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์–มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อให้บัณฑิตแพทย์ที่จบออกไป เป็นที่ยอมรับของแพทย์และสังคมทั่วไป
ในการนี้เชื่อว่า มหาวิทยาลัยรังสิต คณะวิทยาศาสตร์ และวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ต่างมีเป้าหมายเจตนารมณ์เดียวกัน คือพัฒนาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ให้เป็นที่ยอมรับของสังคม สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยรังสิต ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนแพทยศาสตร์ศึกษาให้มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถ มีศักยภาพเทียบเท่าระดับนานาชาติ รวมถึงการปลูกฝังให้นักศึกษาแพทย์มีคุณธรรมจริยธรรมที่ดีงาม ในส่วนของนักศึกษาแพทย์ทุกคนต่างก็ มีเป้าหมายเช่นเดียวกันกับมหาวิทยาลัย คือ การเป็นแพทย์ที่มีความรู้เป็นเลิศในทางการแพทย์ มีมาตรฐาน คุณธรรมจริยธรรมดีเยี่ยม และเป็นที่ยอมรับของสังคมทั่วไป อันนำชื่อเสียงมาสู่วิทยาลัยแพทยศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ให้โอกาสเยาวชนมากมาย ในการสานฝัน อุดมการณ์ในการเป็นแพทย์ ด้วยระยะเวลา 6 ปี ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ปั้นและหล่อหลอมในการสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถ ตลอดจนคุณธรรม จริยธรรม ในการสร้างคน และปั้นดินให้เป็นดาว
ในปัจจุบันมาตรฐานชี้วัดที่สามารถสะท้อนถึงการมีคุณภาพ มีหลายมาตรฐานชี้วัด เช่น การที่บัณฑิตแพทย์ได้ออกไปปฏิบัติงานจริงหลังจบการศึกษา การสอบวัดผลระดับชาติ การสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา ซึ่งแต่เดิมวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นสถาบันเดียวที่ถูกประเมินมาตรฐาน แต่ในปัจจุบันตั้งแต่ปีพ.ศ.2548เป็นต้นมาทางแพทยสภาได้กำหนดให้นักศึกษาแพทย์ทุกสถาบัน และบัณฑิตแพทย์จากต่างประเทศที่จะทำงานในประเทศไทย ต้องผ่านการประเมินคุณภาพร่วมกันด้วยการสอบวัดผลระดับชาติ หากพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งจะเป็นเกณฑ์ในการชี้วัดมาตรฐานการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ และบัณฑิตแพทย์ ซึ่งถูกผลิตจากทุกสถาบันได้อย่างเด่นชัด เพราะใช้เกณฑ์ในการวัดด้วยข้อสอบชุดเดียวกัน และจะเป็นเครื่องยืนยันคุณภาพการศึกษาของสถาบันเอกชน ที่ดียิ่งขึ้นหากเรามีผลสอบในระดับเทียบเท่ากับสถาบันอื่นๆ
การสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา แบ่งออกเป็น 3 ขั้น
1. ขั้นที่ 1 วัดกระบวนความรู้วิชาพื้นฐานทางการแพทย์ และพรีคลินิก สอบปลายปีชั้นปีที่ 3
2. ขั้นที่ 2 วัดทักษะความสามารถและความรู้ทางหัตถการ สอบปลายปีชั้นปีที่ 5
3. ขั้นที่ 3 วัดกระบวนความรู้ทฤษฎีทางคลินิก สอบหลังปลายปีชั้นปีที่6
อย่างไรก็ดีผลสะท้อนจากการสอบวัดความรู้ระดับชาติ การสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ขั้นที่1ของแพทยสภา ปรากฏว่านักศึกษาแพทย์ ม.รังสิต มีผลการสอบผ่านในจำนวนร้อยละที่ต่ำมาก เป็นเวลาติดต่อกันใน 2 ปีที่ผ่านมา (เริ่มมีการสอบได้ 2 ปี) เมื่อเทียบกับผลสอบของนักศึกษาแพทย์จากสถาบันอื่น
จากผลการสอบใบประกอบฯ ทำให้วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ถูกสังคมถามถึงมาตรฐาน คุณภาพในการจัดการศึกษาทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อนักศึกษาแพทย์ที่จะจบออกไปทำงานว่าจะได้รับการยอมรับมากน้อยเพียงใด ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนักศึกษาแพทย์และผู้ปกครองต่างมีความกังวล และอยากให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาเกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากที่ผ่านมานักศึกษาแพทย์ได้มีการพูดคุยถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งได้ชี้แจงให้ผู้ปกครองรับทราบ นอกจากนี้ยังมี นักศึกษาจำนวนหนึ่งโพสข้อความลงเว็บบอร์ดของมหาวิทยาลัยและเว็บบอร์ดของทางวิทยาลัยแพทยศาสตร์สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็น ด้วยเพียงแต่หวังให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิตได้รับทราบปัญหา สาเหตุ และข้อเสนอแนะ เพราะท่านอธิการเป็นความหวังและที่พึ่งของนักศึกษาได้รับโอกาสจากมหาวิทยาลัย ในการทำให้เราเป็นแพทย์ ซึ่งในเรื่องนี้คณะกรรมการนักศึกษาแพทย์ร่วมกับนักศึกษาชั้นพรีคลินิกได้จัดให้มีการประชุมวิเคราะห์ถึงปัญหาและจัดให้มีการอภิปรายในประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวางซึ่งสามารถสรุปสาเหตุของปัญญาหลักๆได้ดังนี้
1. ปัจจัยจากทางด้านตัวนักศึกษา
เกิดจากคุณภาพนักศึกษาแพทย์เองที่มีความพร้อมทางวิชาการ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ความใส่ใจในการศึกษา ด้อยกว่าเมื่อเทียบกับนักศึกษาแพทย์ของโรงเรียนแพทย์รัฐบาล ซึ่งปัญหาส่วนนี้ทางสโมสรฯ ได้พยายามจัดการแก้ไขปัญหาโดยพยายามสนับสนุนให้นักศึกษาปรับปรุงตนเองให้ขยัน พยายาม และตั้งใจเรียน อีกทั้งยังมีโครงการ “พี่สอนน้อง” และภายในรุ่นของนักศึกษาแต่ละชั้นปีได้จัดทำโครงการ “เพื่อนสอนเพื่อน” เพื่อช่วยนักศึกษาที่มีปัญหาความเข้าใจในเนื้อหาวิชาเรียน โดยได้รับความร่วมมือจากนักศึกษาทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องที่มีความสามารถ การเรียนดี มาเป็นกลุ่มผู้สอนและแนะนำแนวทางการเรียน เช่นการจัดการติวภายในรุ่น การอบรม การทำเอกสารส่งเสริมการเรียนรู้ในวิชาต่างๆส่งต่อแต่ละรุ่น การหาหนังสืออ่านเพิ่มเติม ฯลฯ
ในการนี้จะเห็นได้ว่านักศึกษามิได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิด ได้มีการพยายามพัฒนาตนเอง มีการให้ความช่วยเหลือระหว่างเพื่อน ให้มีความทัดเทียมกับสถาบันอื่นในภาครัฐ ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นตามเหตุผลที่ชี้แจงข้างต้นทางนักศึกษาแพทย์จึงมีมติให้ทางสโมสร จัดทำหนังสือขอปรึกษาชี้แจงและเสนอแนวทางการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์
2. ปัจจัยที่มาจากทางมหาวิทยาลัยรังสิต
อาจจะกล่าวได้ว่านับตั้งแต่มีเสียงสะท้อนถึงปัญหาดังกล่าว ทางวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งที่นักศึกษามองเห็นได้อย่างชัดเจนคือ ทางวิทยาลัยแพทยศาสตร์มีการจัดให้มีโครงการจัดติวเพื่อสอบใบประกอบฯ การกระตุ้นและดูแลเอาใจใส่จากอาจารย์ ตลอดจนการสนับสนุนเอกสาร ตำราเรียน รวมไปถึงเงินทุนสนับสนุนทางด้านกิจกรรมต่างๆ ส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งทางวิชาการ และคุณลักษณะที่ดีของนักศึกษาแพทย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสนใจและความเอาใจใส่ต่อปัญหาดังกล่าวในระดับหนึ่ง ซึ่งทางนักศึกษาแพทย์รู้สึกขอบคุณวิทยาลัยแพทยศาสตร์ , คณะวิทยาศาสตร์ และทางมหาวิทยาลัยรังสิตที่ได้ให้ความสำคัญของปัญหานี้
ในเรื่องนี้ทางนักศึกษาแพทย์ ซึ่งถือเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัย และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ตระหนักว่าถ้ามีโอกาสในการเข้าชี้แจงจะสามารถสะท้อนถึงปัญหาบางประการที่ทางผู้บริหารได้รับทราบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด พร้อมทั้งนำเสนอปัญหาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน เช่น ทางด้านทรัพยากรที่เอื้ออำนวยต่อการศึกษาวิชาแพทย์ จำนวนสื่ออุปกรณ์การเรียนการสอน จำนวนอุปกรณ์การทดลองปฏิบัติการต่อจำนวนนักศึกษา ภาระงานของอาจารย์ที่มากและต้องรับผิดชอบนักศึกษาหลายคณะ ความไม่เชี่ยวชาญทางคลินิกที่จะประยุกต์ความรู้ของอาจารย์ผู้สอน สภาพห้องเรียน และบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการศึกษา การเชิญอาจารย์พิเศษให้เพียงพอต่อการให้คำปรึกษาสร้างเสริมความรู้ทางวิชาการจากสถาบันอื่น เพื่อให้นักศึกษาแพทย์รวมถึงผู้ปกครองจะได้หาทางช่วยกันพัฒนาแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ ร่วมกับทางมหาวิทยาลัย พวกเราระลึกถึงอธิการบดี ผู้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรที่มีจิตใจเมตตาต่อนักศึกษาทุกคนในมหาวิทยาลัยรังสิตมาโดยตลอดและเป็นนักบริหารที่มีประสบการณ์สูง
ในการนี้นักศึกษาแพทย์ ขอความกรุณาท่านให้เวลานักศึกษาแพทย์เข้าปรึกษาหารือชี้แจงปัญหาต่างๆที่มีอยู่ในมุมมองของนักศึกษาแพทย์ ให้ท่านอธิการบดีรับทราบ เพื่อหาแนวทางพัฒนาคุณภาพของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ร่วมกันระหว่างนักศึกษาแพทย์และมหาวิทยาลัยรังสิต โดยนักศึกษาแพทย์มีความปรารถนา และคาดหวังว่าท่านอธิการบดี จะให้ความรัก ความใส่ใจแก่นักศึกษาแพทย์ พร้อมชี้แจงแนวทางในการแก้ปัญหาของท่าน เพื่อผลประโยชน์ของทั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์และมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อสร้างสรรค์ ผลิตนักศึกษาแพทย์ที่มีคุณภาพ ที่สมบูรณ์ สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยรังสิต
ทั้งนี้นักศึกษาแพทย์จะขอความกรุณาเข้าพบท่านเพื่อเรียนปรึกษาและขอรับฟังคำชี้แจงกับอธิการบดีโดยตรง ตลอดจนเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อท่าน ในเวลา 15:00น ของวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2550
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาให้ความอนุเคราะห์ด้วย