AI กับวงการแพทย์, หมอกล้าเล่า, ชเนษฎ์ ศรีสุโข, จุดเปลี่ยนของมนุษยชาติ
บทความนี้เป็นการแกะสคริปต์ รายการหมอกล้าเล่า ตอนพิเศษ AI กับ วงการแพทย์
คุณรู้หรือไม่ว่า A.I. มีบทบาทสำคัญกับวงการแพทย์ ถ้าอยากรู้ติดตามดูคลิปนี้นะครับ
สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับเข้าสู่รายการหมอกล้าเล่า ผมหมอกล้านะครับ หรือ ชเนษฎ์ ศรีสุโข
AI หรือ Artificial intelligence ได้มีความสำคัญกับโลกของเราในปัจจุบันมากขึ้น จนกลายเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญของโลกในยุคถัดไป
AI คือ ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ การที่หุ่นยนต์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น มีการพัฒนาสมองที่ไปไกลกว่ามนุษย์ ซึ่งมีศัพท์คำนึงที่น่าสนใจ คือคำว่า “Singularity”
โดย Singularity คือ วันที่หุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ จะมีความฉลาดเหนือมนุษย์ มี Productivity และสามารถสร้างผลผลิตได้มากกว่า
ย้อนไปในอดีต อะไรที่ทำให้เกิด “จุดเปลี่ยน” ของมนุษยชาติ
จากหนังสือเรื่อง “Homo sapiens” หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนโดยนายแพทย์จากประเทศอิสราเอล ได้กล่าวถึงเหตุการณ์นึงในอดีต ที่ทำให้มนุษย์เกิดการพัฒนาสมองอย่างก้าวกระโดด นั่นคือ เหตุการณ์ที่มนุษย์ได้ค้นพบ “ไฟ”
การค้นพบไฟ ทำให้ แทนที่มนุษย์จะเอาสมองไปคอยตามหาแสงสว่าง อาหาร หนีศัตรู หรืออื่นๆ มันทำให้มนุษย์สามารถ “พลิกเกมส์” จาก “ผู้ถูกล่า” เป็น “ผู้ล่า”
หลังจากนั้น สมองของมนุษย์ได้พัฒนาก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็ว เพราะไม่ต้องมาคอยคิดเรื่องหนีอันตราย จึงทำให้เกิดการพัฒนาด้านภาษาควบคู่ไปกับวัฒนธรรม และในเวลาต่อมา “เรื่องเล่า” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น
ในหนังสือ “Homo sapiens” ได้กล่าวว่า หากเราปล่อยให้คนอยู่รวมกันตามธรรมชาติ จะอยู่รวมกลุ่มกันได้ไม่เกิน 150 คน ถ้าไม่มี เรื่องเล่า ความเชื่อ หรือสิ่งยึดเหนี่ยวร่วมกัน สักพักคนกลุ่มนี้จะไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้
เรื่องเล่าร่วมกันในอดีต นั้นเริ่มมาจาก การบอกต่อๆกันว่า มีศัตรู แหล่งน้ำ หรือแหล่งอาหารอยู่ตรงไหน
จนกระทั่ง “เรื่องเล่า” ได้พัฒนามาเป็น “หลักการมโนธรรม” ที่มีคุณค่า ซึ่งได้แก่ “ศาสนา” “คุณงามความดี” รวมไปถึง “ความเป็นชาติ” และ “กฎหมายต่างๆ” ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้คนจำนวนมากเกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สัมผัสเรื่องราวนั้นๆในประสบการณ์เดียวกันเลยด้วยซ้ำไปครับ
เรื่องที่เล่ามานี้ คือ กลไกและวิวัฒนาการการพัฒนาของมนุษย์ โดยหลังยุคการค้นพบไฟและหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม เทคโนโลยี A.I. กลายเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่สำคัญที่ทำให้มนุษยชาติก้าวไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
บทบาทของ A.I. กับการแพทย์นั้น มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณหมอและทีมงาน รวมไปถึงทีมสาธารณสุข ในการช่วยดูแลผู้ป่วยหลายๆด้าน ได้แก่ 1. การตรวจ 2. การวินิจฉัย 3. การรักษา
อาทิเช่น คุณหมอสามารถตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) โดยคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถวินิจฉัยลักษณะของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ คุณหมอสามารถตรวจความผิดปกติ (Pathology) ของสมอง ช่องท้อง หรือช่องอก ด้วยการอ่านภาพ Imaging ผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ CT หรือ X-ray เพื่อให้วินิจฉัยมีความผิดปกติได้ด้วยฟิล์มต่างๆ ทำให้คุณหมอและทีมสามารถวางแผนการรักษาร่วมกับคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในด้านคุณหมอผิวหนัง ระบบ A.I. เข้ามามีบทบาทในเรื่อง การสร้างภาพถ่ายของผิวหนังคนไข้ เพื่อช่วยคุณหมอในการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของโรคผิวหนัง ทำให้การวางแผนการรักษารวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น
ในด้านคุณหมอผ่าตัด ระบบ A.I. เข้ามามีบทบาทในเรื่องการใช้หุ่นยนต์เพื่อช่วยผ่าตัด (Robotic Surgery) หรือแม้กระทั่ง สถานพยาบาลต่างๆ ก็มีหุ่นยนต์เพื่อช่วยในการดูแลคนป่วย
ถึงแม้ว่า A.I. จะมีบทบาทในด้านการแพทย์มากแค่ไหนก็ตาม กฎหมายของแต่ละประเทศยังคงให้คุณหมอและทีมเป็นผู้ดูแลและควบคุม เพื่อป้องกันความผิดพลาดของระบบ
ในประเทศไทย มีคณะแพทย์หลายที่ ได้มุ่งเน้นเรื่องของการเรียนหมอและเรียนรู้เพิ่มเติมด้านเทคโนโลยีร่วมด้วย ซึ่งบางที่ มีการผลักดันให้เรียนแพทย์จบ ป.ตรี และได้ปริญญาโทเกี่ยวกับด้านวิศวกรรม A.I. ร่วมด้วย
ปัจจุบันนี้ การเรียนต่อในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเทคโนโลยีการแพทย์ หรือ เทคโนโลยี A.I. เราพบว่า ได้รับความสนใจมากขึ้น ซึ่งเป็นแรงงานที่ต้องการในอนาคตมากขึ้นอย่างแน่นอน
เทคโนโลยี A.I. นั้น ก็ได้มีความสอดคล้องกับเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่มีความรวดเร็ว คือ 5G และ 6G ซึ่งทำให้คุณหมอสามารถทำอะไรได้อย่างฉับไวมากขึ้น อาทิเช่น คุณหมอสามารถดูแลคนไข้อีกซีกโลกนึงได้ผ่านทางระบบ A.I. ได้เลยครับ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไปไกลแค่ไหน สิ่งสำคัญที่สุดยังคงเป็น “คุณหมอ” ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลคนไข้ เพราะการสื่อสารที่ดี การสื่อสารจากใจถึงใจ และการอธิบาย ทำให้เกิดความเข้าใจทั้งสองฝ่าย เพื่อร่วมกันหาแนวทางดูแลรักษา ก่อให้เกิดความผูกพันที่ดีต่อกัน
“องค์กร” ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทางการแพทย์ไทยโดยตรง คือ “แพทยสภา”
“แพทยสภา” ก่อตั้งขึ้นตาม “พระราชบัญญัติประกอบวิชาชีพเวชกรรม” โดยคุณหมอในปัจจุบันสามารถร่วมเลือกตั้ง เพื่อให้มีทีมกรรมการ มาคอยดูแลเกี่ยวกับเรื่องการออกกฎหมายทางการแพทย์ และเป็นตัวแทนของแพทย์ไทย เพื่อนำเสนอนโยบายต่อรัฐบาล ซึ่งต่อไปเราจะต้องมีการพัฒนากฎหมายให้ครอบคลุมเรื่อง A.I. ซึ่งเรื่องที่เราได้ยินบ่อยๆ คือ การแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine
ในช่วงนี้ แพทยสภาก็มี “การเลือกตั้ง” ซึ่งปีนี้เราใช้ระบบออนไลน์ นี่ก็เป็นเรื่องของการที่ A.I. เข้ามีบทบาทอย่างเห็นได้ชัด เมื่อมองย้อนไปในสมัยก่อน เราเลือกตั้งด้วยการใช้กระดาษและดินสอ 2B แต่ปัจจุบันไปจนถึงอนาคต คนรุ่นใหม่ๆ สามารถเลือกตั้งออนไลน์ได้ ทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้น
สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็น A.I. , Telemedicine หรือ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องต่างๆ สิ่งสำคัญที่สุด คือ “พวกเราทุกคนมีส่วนร่วม” เพื่อมา “เปลี่ยนแปลง” และ“พัฒนาการแพทย์” ไปด้วยกันนะครับ
ขอบคุณครับ ชเนษฎ์ ศรีสุโข (หมอกล้า)
FB: www.facebook.com/chanesd
ประวัติผู้เขียน https://www.bloggla.com/?page_id=27