นิทานรำลึกการต่อสู้ของพ่อ (ภาคแรก)
การต่อสู้ของ นพ.พัฒนัตถ์ ศรีสุโข บิดาของชเนษฎ์ ศรีสุโข
การต่อสู้ของ นพ.พัฒนัตถ์ ศรีสุโข บิดาของชเนษฎ์ ศรีสุโข
ตีพิมพ์ในวารสาร Demo-Crazy ฉบับ ตุลาคม 2556 issuu.com/demo-crazy/docs/volume28
ชเนษฎ์ ศรีสุโข bloggla.com
อุทิศเนื่องในโอกาสเดือนตุลาคม เดือนที่ปัญญาชนชาวไทย รำลึกถึงความเสียสละเพื่อประเทศชาติ ครั้นสมัยนักศึกษาเดือนตุลา มาจนถึง “7 ตุลา ต้องไม่สูญเปล่า” ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อนึ่ง เป็นเดือนที่ทำให้เรารำลึกถึงเสด็จพ่อฯ ร.5 ผู้ทรงสร้างความเจริญนานัปการ และยังเป็นเดือนเกิดของคุณพ่อแท้ๆของผมเองด้วย เป็นการดีที่จะแต่งนิทานเล่ากล่าวขอบคุณคุณพ่อถึงความเสียสละที่มีตลอดมา ส่วนนิทานสำหรับคุณแม่ รอไปก่อนละกันนะครับ
………..(เรื่องนี้เป็นนิทาน เป็นเรื่องแต่ง ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลจริงใดใด)………..
อาจารย์หมอหลายคน เป็นตัวอย่างการดำรงชีวิตที่ดีให้กับผม โดยเฉพาะคุณพ่อและคุณแม่ของผมเอง…
คุณพ่อ เป็นแรงบันดาลใจและเบื้องหลังความสำเร็จของทุกคนในครอบครัว
พ่อโตมาจากชนชั้นรากหญ้า จากปูมหลังที่ติดลบ ครอบครัวแตกแยก ลูกกำพร้าที่ไม่มีใครดูแล วัยเด็กความเป็นอยู่แร้นแค้น เคยกลิ้งตกจากบ้านไม้ของย่าในสลัมสมัยก่อน จนมีคนสงสารขอเอาไปเลี้ยง พ่อโตในบ้านของเตี่ยบุญธรรมโดยทำตนเป็นคนรับใช้ ดูแลทำความสะอาดบ้าน กระนั้น พ่ออุตสาหะ คอยเตือนตนเองให้หมั่นเพียรเสมอ พ่อบอกเสมอว่าความขี้เกียจคือศัตรูตัวฉกาจ พ่อสามารถบากบั่นจนสอบเข้าเรียนเตรียมอุดมฯได้ สอบเข้าแพทย์ศิริราชฯได้ เรียนจบไปทำงานใช้ทุน และเรียนต่อเป็นศัลยแพทย์(หมอผ่าตัด)
แม้ว่าพ่อจะมีต้นทุนชีวิตน้อยและทางเลือกที่ไม่มากนัก กระนั้นพ่อยังมุ่งมั่นกระทำตามอุดมการณ์ของหมอสมัยก่อน ที่มักแข่งกันอุทิศตนไปอยู่ในพื้นที่กันดาร ใครกันดารกว่า เท่ห์กว่า
พ่อเปี่ยมด้วยความรับผิดชอบ
พ่อเคยรับราชการจนเกษียณ และเคยเป็นหมอผ่าตัดคนเดียวในโรงพยาบาลจังหวัด พ่อสามารถอยู่เวรดึก ผ่าตัดทั้งคืน ติดต่อกันทุกคืนเป็นเดือนๆ และตอนเช้าก็ปฏิบัติงานตรวจผู้ป่วยต่อได้ ดุจเครื่องจักร พ่อเป็นหมอผ่าตัดรุ่นเก่า ที่ไม่เกี่ยงงานหนัก ไม่เคยปฏิเสธและทอดทิ้งคนไข้ พ่อบอกว่านี่คือจิตวิญญาณหมอศัลย์
พี่พยาบาลเล่าแซวอยู่บ่อยว่า ด้วยความที่พ่องานหนัก บางครั้งตอนเช้าหลังลงเวร พ่อเดินไปราวน์(ตรวจ)คนไข้ที่นอนในแผนกต่างๆทั่วทั้งโรงพยาบาล ได้สั่งให้การรักษาเป็นอย่างดี และ กลับบ้านไปแอบงีบ พอพ่อตื่นมาตกใจรีบวิ่งไปที่ตึก ไปราวน์อีก พยาบาลเลยบอกว่าหมอมาไปแล้วค่า (คงเพราะว่าเหนื่อยจัด พ่อเลยลืม)
ในสมัยเด็กๆ กลางดึก โทรศัพท์ที่บ้านมักดังบ่อย มีพยาบาลโทรตามพ่อไปดูแลคนไข้นั่นเอง และพ่อไม่เคยดึงสายโทรศัพท์ แกล้งทำโทรศัพท์เสียแต่อย่างไร มักไปดูคนไข้ทันที