ความสำเร็จ และ การสืบทอดของแพทย์ชนบท
ความสำเร็จ และ การสืบทอดของแพทย์ชนบท
http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000090354
ผู้เขียนอยู่ในวงการแพทย์มานาน เพราะตั้งแต่จำความได้ ก็ได้เห็นความเหน็ดเหนื่อยจากการตรากตรำทำงานหนักของบุพการี การอยู่เวร อดหลับอดนอน เป็นเรื่องธรรมดาของหมอ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขในระบบราชการ ที่ต้องทำงานไม่หยุดจนถึงเกษียณ ครอบครัวของเราต่อมาก็ล้วนเป็นคนในวงการเดียวกัน และเข้าใจวิถีชีวิตของกันและกัน สิ่งเหล่านี้เรียกว่าการสืบทอดวัฒนธรรมทางวิชาชีพ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการการแพทย์อยู่บ่อยครั้ง หมอในระบบราชการทุกวันนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลจังหวัดล้วนรับภาระการรักษาที่หนักมาก และเป็นศูนย์รับการส่งต่อคนไข้จากโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ การตรวจคนไข้วันละหลายร้อยคน การทำงานเดือนละ 3-4 ร้อยชั่วโมง ถือเป็นเรื่องปกติ
เราทำงานอยู่ในจังหวัดที่น่าจะติดอันดับว่ามีความเจริญน้อย มีประชากรทั้งจังหวัด ประมาณ สามถึงสี่แสนคน กระนั้น แต่ก่อน เราก็มีความสุขดีไม่ต่างกับประชาชนในจังหวัดที่อยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกัน และ เราก็ไม่เคยเรียกตนเองว่าเป็นแพทย์ชนบท ความเป็นอยู่อย่างสงบของเรามีมานานจนเมื่อเกิดระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบนี้ทำให้ความสุขของหมอรัฐบาลลดน้อยลง
ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกิดขึ้นในสมัยนายกรัฐมนตรี คุณทักษิณ โดย กลุ่มอาจารย์หมออุดมการณ์ที่เรียกตนเองว่า “แพทย์ชนบท” ล้วนมีอาจารย์ใหญ่คนเดียวกัน เจ้าของทฤษฎี “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ได้เจรจาสำเร็จในการก่อตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งคอยรวบรวมเงินงบประมาณการสาธารณสุขรายปีไว้ใช้จ่ายเอง และมีการใช้นโยบายบังคับให้โรงพยาบาลรัฐบาลทุกแห่ง รักษาฟรี หรือในชื่อ “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” ระบบนี้มีคุณค่าอนันต์แก่ประชาชนไทยทั่วประเทศ เพราะ ทำให้คนเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลรัฐบาลต่างๆ ได้รับการรักษาจากหมอผู้เชี่ยวชาญ และ แม้ว่าจะหายป่วยด้วยฝีมือแพทย์ท่านใดก็ตาม คนจำนวนมากก็ชื่นชมคุณทักษิณมาจนถึงทุกวันนี้