บันทึกงานเปิดรั้วโรงเรียนแพทย์ ครั้งที่5
งานเปิดรั้วโรงเรียนแพทย์ครั้งนี้ จัดขึ้นที่ โรงพยาบาลราชวิถี อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ชั้น11-12 (อาคารจอดรถ) เช่นเดียวกับปีที่แล้ว เนื่องด้วยด้วยความพร้อมของสถานที่ และความสะดวกสำหรับผู้เยี่ยมชม
จัดโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย (สพท) โดยมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมกว่า 1,700 คน
ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมและทำงานด้านการเตรียมการฝ่ายสถานที่
รวมถึงได้รับฟังคำบรรยายจากวิทยากรผู้มากประสบการณ์ และบังเกิดความประทับใจมากกับการตอบคำถามรวมถึงการบรรยายของวิทยากร
ที่ประทับใจที่สุด คือ ศ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย คนปัจจุบัน
ทำให้ข้าพเจ้าย้อนตอบคำถามตัวเองหลายๆอย่าง ถึงเป้าหมายชีวิตของตนเอง และการมาเรียนหมอ
แม้จะได้ไม่ได้ชอบและอยากเรียนที่สุด แต่ข้าพเจ้ามีความมั่นใจว่าสามารถเรียนแพทย์และสามารถจบแพทย์ได้
รวมถึงหลังจบแพทย์ ทั้งการเรียนแพทย์ และการทำงานเป็นแพทย์ จะต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ความเหน็ดเหนื่อยยาก ลำบาก เผาผลาญพลังงานชีวิต มากมายเช่นไร
เป็นสิ่งที่ต้องสัมผัสด้วยตนเองจึงจะทราบความเป็นจริง
ตอนนี้ เรียนรู้จากคนใกล้ตัว และบุคคลในวิชาชีพแพทย์มากมาย เป็นการเตรียมตัว เตรียมใจ เพื่อจะพบกับชีวิตของความเป็นหมอ
งานนี้เป็นการตอบคำถามแก่น้องๆที่ยังไม่ทราบความเป็นจริง และน้องๆที่สนใจจะเรียนวิชาชีพแพทย์ รวมถึงน้องๆที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้เรียนแพทย์
ต้องมารับทราบความเป็นจริง และเตรียมตัว เตรียมใจ รู้รายละเอียดเบื้องลึกของการเรียนแพทย์ รวมถึงการเรียนแพทย์ในแต่ละสถาบัน
ที่คัดลอกมาไว้นี้ เป็นเนื้อหาส่วนสำคัญ บางส่วน จากงานวันนั้น รวมถึงบทความจากหนังสือในงาน
ศ.คลินิก พญ.บุญเชียร ปานเสถียรกุล คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า การเรียนแพทย์ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่นักเรียนหลายคนคิด นักเรียนที่ตัดสินใจเข้ามาเรียนจะต้องพบกับความเหนื่อยยาก ตลอดทั้งชีวิตอาจจะต้องทิ้งการแสวงหาความสุขอย่างที่คนอื่นมี สิ่งที่จะต้องมี ความอดทน ขยัน เสียสละ และรับผิดชอบ การเรียนแพทย์ใช้เวลา 6 ปี หลังจากเรียนจบต้องทำงานใช้ทุนคืนให้ประเทศอีก 3 ปี หลังจากนั้นถึงจะมีโอกาสไปศึกษาต่อแพทย์สาขาเฉพาะทางอีก 3-5 ปี
พร้อมกันนี้ นักเรียนแพทย์จะต้องรักษาสุขภาพ ระมัดระวังอย่าให้ป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างศึกษา ซึ่งจะทำให้เรียนไม่ต่อเนื่อง ขณะที่เรียนหนักจนแทบไม่มีเวลาให้ครอบครัว ที่สำคัญที่สุดคือ ตัวนักเรียนต้องมีความเต็มใจ ต้องอยากเรียนเอง ไม่ใช่เพราะผู้ปกครองอยากให้เรียน หรือเรียนตามเพื่อน หรือเรียนเพราะอยากมีเกียรติ อยากมีรายได้ดี ซึ่งจะทำให้เมื่อเข้ามาเรียนแล้วเรียนไม่จบ
“มีนักเรียนบางคนเพราะตามใจพ่อแม่ เรียนตามเพื่อน ซึ่งไม่ได้อยากเรียนแพทย์จริงๆ หรือไม่ได้เต็มใจอยากเรียนแพทย์ เข้ามาจะมีปัญหามากในการเรียน บางคนสอบตกต้องเรียน 9-12 ปี เมื่อจบไปก็ไม่ได้เป็นแพทย์ บางคนเปลี่ยนเส้นทางไปเลย แต่บางคนก็ไปทำงานเป็นฝ่ายบริหารของโรงพยาบาล หรือห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ซึ่งก็ถือว่าไม่ห่างจากวิชาชีพนัก จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งคือ การสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม หากไม่ตั้งใจเรียนจะสอบไม่ได้ ก็จะไม่ได้เป็นแพทย์เช่นกัน” ศ.คลินิก พญ.บุญเชียร กล่าวถึงคนที่อยากเรียนแพทย์จริง ๆ แต่ไม่มีเงิน ขอให้แสดงความตั้งใจมุ่งมั่นให้ชัดเจน เพราะทุนที่ให้แก่ผู้เรียนแพทย์มีอยู่มากและเพียงพอ แต่เมื่อเรียนจบอาจต้องทำงานใช้คืนทุนนานกว่าคนอื่น
ในขณะนี้ประเทศไทยยังถือว่าขาดแพทย์อีกมาก คิดเป็นอัตราส่วนแพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,600 คน แต่ที่เหมาะสม น่าจะไปถึง 1 ต่อ 800 คน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกนานกว่า 10 ปี แต่ละปีมีนักศึกษาแพทย์เรียนจบประมาณ 1,250 คน การศึกษาแพทย์วิชาชีพเฉพาะทางในไทยรับได้ประมาณปีละ 300 คน ปัญหาในการเรียนการสอนแพทย์ขณะนี้อยู่ที่ปี 1-3 หรือชั้นพรีคลินิก อาจารย์จะสอนวิทยาศาสตร์แท้ ๆ โดยไม่ได้ระบุชัดเน้นเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับแพทย์ ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิรูปหลักสูตร
“ทำอย่างไรจึงจะได้เป็นแพทย์?”
พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
นักเขียนและสูติ-นรีแพทย์ 9 โรงพยาบาลพิจิตร
น้องๆที่รัก…
ในปีพ.ศ. 2545 สำนักพิมพ์สนุกอ่าน ได้รวมบทความเกี่ยวกับชีวิตนักศึกษาแพทย์ที่พี่เขียนลงเป็นตอนๆในนิตยสารใกล้หมอเป็นพ็อคเก็ตบุ๊คเรื่อง“บันเทิงบันทึกนักศึกษาแพทย์” ตามมาด้วยพ็อคเก็ตบุ๊คเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตแพทย์ฝึกหัด “สวัสดีคุณหมอใหม่”ในปี พ.ศ. 2548 พี่จึงรู้ว่าน้องๆที่อยากเป็นแพทย์นั้น มีจำนวนมากมายทีเดียว น้องๆหลายคนติดต่อมา มีทั้งเขียนจดหมาย, อีเมล, และโทรศัพท์ แต่ละคนบอกว่า…อยากเรียนแพทย์มาก ทำอย่างไรจึงจะได้เรียนแพทย์? มีไม่น้อยที่ถามถึงเคล็ดลับที่ทำให้พี่สอบติดแพทย์ที่เขียนในหนังสือว่า เอาเท้าจุ่มน้ำเย็นจะได้อ่านหนังสือได้ทั้งคืนนั้น…เป็นเรื่องจริงไหม? น้องบางคนบอกว่าลองทำดูแล้วพบว่าไม่หลับทั้งคืนก็จริง แต่ไปหลับในห้องเรียนแทน ทำเอาเรียนไม่รู้เรื่องไปทั้งวัน
อันที่จริงคนเรานั้นมีเงื่อนไขต่างกัน ที่พี่เล่านั้นเป็นเรื่องหนึ่งที่พี่พยายามกระทำเพื่อจะได้เป็นแพทย์ ชีวิตคนเรานั้น คนที่มีเงื่อนไขครบสมบูรณ์ ประเภทอยากเป็นอะไรก็เป็นได้มีน้อย ส่วนใหญ่อยากจะเป็นอะไร โดยเฉพาะเป็นให้เก่งให้ดี ต้องใช้ความพยายามสูงสุดทั้งนั้น ตอนเด็กๆชีวิตพี่ลำบาก เป็นเด็กกำพร้าขาดแคลน เผอิญไปรู้จักนักศึกษาแพทย์และทีมแพทย์จากญี่ปุ่นที่มาทำงานวิจัยที่โรงเรียน จึงใฝ่ฝันอยากเรียนแพทย์ การเป็นแพทย์ของพี่จึงเป็นเรื่องที่ลำบากฝ่าฝันกว่าจะประสบความสำเร็จแม้ไม่ใช่คนทุกคนที่จะเรียนแพทย์ได้ แต่การเรียนแพทย์ไม่ใช่ของไกลจนสุดเอื้อมการสอบเข้าเรียนแพทย์ได้ อาศัยคุณสมบัติเพียง 2ประการจ๊ะน้อง ประการที่หนึ่ง เรียนดีเรียนเก่ง
คนจะเรียนแพทย์ได้ ควรเรียนเก่งเป็นอันดับต้นอย่างน้อยร้อยละสิบของนักเรียนทั้งหมด วิชาที่ต้องเก่งระดับยอดเยี่ยมได้แก่วิชาคณิตศาสตร์ ระดับดีถึงดีมาก ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ ส่วนอย่างอื่นๆอย่างน้อยต้องระดับดี ไม่ว่าสังคม ภาษาไทย พละศึกษาฯลฯ วิชาเหล่านี้แม้ไม่ใช่พื้นฐานของการเรียนแพทย์ทุกวิชา แต่การเรียนเก่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะวิชาแพทย์มีเนื้อหาวิชามากมาย หลายอย่างอาศัยความจำที่เป็นเลิศ บางอย่างซับซ้อนเข้าใจยาก บางอย่างอาศัยการคำนวณ บางอย่างอาศัยภาษาอังกฤษที่แตกฉาน บางอย่างอาศัยความคิดเป็นเหตุเป็นผลฯลฯ เรียกว่าจะเรียนรู้ให้เข้าใจ เกือบทุกเรื่องล้วนต้องอาศัยสติปัญญาและความเฉลียวฉลาดเป็นหลัก
ประการที่ 2 ร่างกายแข็งแรง โอบอ้อมอารี มีเมตตา ชอบช่วยเหลือผู้อื่น มีมนุษยสัมพันธ์ แก้ปัญหาโดยใช้เหตุผลเหนืออารมณ์ ฯลฯ
อันที่จริงเรื่องนี้สำคัญเป็นอันดับหนึ่งเพราะเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะเป็นแพทย์ แต่ที่เขียนเป็นประการสอง เพราะแม้บางส่วนเป็นคุณสมบัติที่ครอบครัวและตนเองสร้างมา แต่บางส่วนอาจเป็นเรื่องสร้างขึ้นภายหลังได้ ข้อสอบเข้าแพทย์ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นข้อเขียน สัมภาษณ์ ตรวจร่างกาย ส่วนหนึ่งมุ่งเน้นเลือกคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้
แค่มีคุณสมบัติ2 ประการนี้ น้องย่อมสอบเข้าแพทย์ได้แล้ว เย้…
แต่การสอบเข้าได้ ไม่ได้ประกันว่าน้องสามารถเรียนจนจบเป็นแพทย์ น้องนักเรียนหลายคนเมื่อสอบเข้าแพทย์ได้ คิดว่าตนเองประสบความสำเร็จ บรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดของตนเองและผู้ปกครองจนเลือกใช้ชีวิตอย่างประมาท ในขณะความเป็นจริงคือ การจะเรียนจนจบแพทย์ได้ อาศัยคุณลักษณะที่จำเป็นอีกหลายประการ ขอยกมาเพียง7ประการได้แก่
ประการที่ 1 ความเป็นแพทย์ต้องการคนที่มีร่างกายแข็งแรง จิตใจเข้มแข็ง ไม่มีโรคจิต โรคประสาท สามารถทนต่อสภาวะที่เครียดได้
แม้มีการคัดคุณสมบัติบุคคลก่อนเรียนแพทย์ แต่อาจไม่สามารถเลือกคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ได้หมดจริง คนที่มีร่างกายป่วยกระเสาะกระแสะ จิตใจอ่อนแอไม่อาจรับความกดดันใดๆ หรือเครียดง่าย ล้วนเป็นอุปสรรคของการเรียนแพทย์ ส่งผลให้น้องเรียนไม่จบ หรือเกิดความเครียด จนมีบางรายต้องปลิดชีวิตตนลง ซึ่งมีทั้งที่เป็นนักศึกษาแพทย์ และที่เรียนจนจบแพทย์แล้ว
ประการที่2 ความเป็นแพทย์ต้องการคนที่มีวินัยและความรับผิดชอบ
คนที่สอบเข้าแพทย์ได้ ส่วนใหญ่ต้องมีวินัยในการใช้ชีวิต รับผิดชอบอ่านหนังสือ ติวความรู้ฯลฯ จนผลการเรียนดีเด่น แต่เมื่อสอบเข้าเรียนแพทย์ได้ บางคนคิดว่า ขอเรียนให้ผ่านก็พอ ไม่จำเป็นต้องเอาจริงเอาจัง จึงย่อหย่อนวินัยและความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงในรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย ที่ฝากชีวิตไว้กับการดูแลเอาใจใส่ของแพทย์ ในแต่ละปีมีนักศึกษาแพทย์ที่ถูกรีไทร์จากการขาดวินัยและความรับผิดชอบ สมัยที่พี่เป็นนักศึกษาแพทย์ เพื่อนนักศึกษาแพทย์ที่ถูกรีไทร์มีหลายคน ส่วนหนึ่งในจำนวนนั้นไม่อ่านหนังสือไปสอบ, ไม่ไปขึ้นวอร์ด(ตึกคนไข้), ไม่ดูแลคนไข้ที่รับผิดชอบ, บางคนไม่ไปเรียนแต่เพลิดเพลินกับการเล่นไพ่อยู่ที่หอทั้งวันทั้งคืน
ประการที่3ความเป็นแพทย์ต้องการคนที่พร้อมจะใช้ชีวิตเพื่อคนอื่น
ทันทีที่ก้าวเข้ามาในวิชาชีพแพทย์ เวลาส่วนตัวของน้องไม่ใช่ของน้องคนเดียว ไม่ว่าอยู่เวรหรือไม่ หากน้องถูกตาม น้องต้องพร้อม ไม่ว่าน้องจะทำอะไรอยู่ หากมีคนไข้อยู่ในภาวะวิกฤตของชีวิต ทุกอย่างที่ทำอยู่ต้องกลายเป็นรอง ด้วยการช่วยชีวิตคนไข้นั้นมีความสำคัญที่สุดสำหรับคนที่จะเป็นแพทย์
ประการที่ 4 ความเป็นแพทย์ต้องการคนที่มีความอดทน
ทั้งอดทนต่อความเหน็ดเหนื่อย เช่นอยู่เวรทั้งคืน แต่เช้าต้องมาทำงานหรือมาเรียน เหมือนคนนอนหลับสบายทั้งคืน ทั้งอดทนต่อของที่น่ารังเกียจ เช่นต้องตรวจ อุจจาระ ปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง เสมหะ อวัยวะที่เปื่อยเน่า ฯลฯ
น้องบางคนรักของสวยของงามมาก ไม่อาจทนได้กับสิ่งเหล่านี้ จนเปลี่ยนคณะเรียนก็มี
ประการที่ 5 ความเป็นแพทย์ต้องการคนสนใจใฝ่รู้ตลอดชีวิตด้วยตนเอง
วิชาแพทย์ เป็นวิชาที่กว้างและลึกไม่มีวันเรียบจบ ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ การรักษา เวชภัณฑ์ เครื่องไม้เครื่องมือ ที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไปฯลฯ จึงต้องอาศัยการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้แค่ในตำราอาจไม่พอที่ทำให้น้องสอบผ่าน รับใบอนุญาตหรือใบประกอบโรคศิลป์เพื่อเป็นแพทย์ได้
ประการ6 ความเป็นแพทย์ต้องการคนมีจริยธรรม
อันที่จริงวิชาใดๆในโลกนี้ล้วนต้องการคนมีจริยธรรมทั้งนั้น แต่ เรื่องนี้เป็นเรื่องกำหนดไว้ในคุณสมบัติของวิชาชีพแพทย์ ดังนั้นหากน้องทำผิดจริยธรรม ซึ่งอาจไม่ผิดร้ายแรงสำหรับบางอาชีพ แต่วิชาชีพแพทย์ถือว่าเป็นความผิดอย่างรุนแรง จนอาจเรียนไม่จบ เช่นโกหกหลอกลวง ประเภทไม่ได้ตรวจคนไข้บอกว่าตรวจแล้ว ลอกงานคนอื่นมาส่งอาจารย์เป็นงานตนเองเป็นต้น
ประการ7 ความเป็นแพทย์ต้องการคนที่มีความมุ่งมั่น มีปณิธาน
น้องที่จะเรียนแพทย์ ควรเป็นผู้ต้องการเป็นแพทย์จริงๆ นั่นหมายความว่าน้องควรต้องเรียนรู้ เข้าใจ และศรัทธาวิชาชีพแพทย์ ซึ่งจะทำให้น้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ตั้งแต่ก่อนสอบเข้าแพทย์ เมื่อสอบได้ การใช้ชีวิตแบบที่ความเป็นแพทย์ต้องการ จะส่งผลทำให้น้องประสบความสำเร็จ เรียนจบ ได้ปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิตที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ตามที่น้องใฝ่ฝัน
น้องๆที่รัก…
ก่อนจบ พี่ขอฝากถึงท่านผู้ปกครองและน้องๆที่ต้องการเป็นแพทย์ในเรื่องที่สำคัญมากเรื่องหนึ่ง คือความเชื่อว่าวิชาชีพแพทย์นั้นร่ำรวย จนทำให้หลายคนอยากเป็นแพทย์เพราะเหตุนี้
วิชาชีพแพทย์นั้นยังไม่มีการตกงานตั้งแต่อดีตมาจวบปัจจุบัน แพทย์ไม่ยากจน แต่ก็ไม่ร่ำรวย เมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ(ที่ทำงานอย่างเหนื่อยยาก, ทุ่มเทเวลา, และใช้สมองที่ชาญฉลาด เท่าๆกัน)… วิชาชีพแพทย์ได้ค่าตอบแทนน้อยกว่า จนมีอาจารย์แพทย์บางท่านบอกว่า…ค่าตอบแทนหมอน้อยกว่าหมอนวดฝ่าตีน มิหนำซ้ำยังมีความเสี่ยง ต่อการติดโรค ถูกฟ้องร้อง เสื่อมสุขภาพตนเองและคนในครอบครัว(เนื่องจากไม่ค่อยมีเวลาให้ครอบครัว)
อย่างไรก็ตาม แพทย์เป็นวิชาชีพที่มีโอกาสได้สร้างบุญบารมี การทำงานด้วยพรหมวิหาร4 (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) เพื่อช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์และผู้ตกทุกข์ได้ยาก สามารถสร้างความปลื้มปีติในหัวใจของตนเองและครอบครัวอย่างหาอาชีพอื่นเทียบเทียมได้น้อย มิหนำซ้ำ วิชาชีพแพทย์ยังทำให้ปลงตก เห็นความอนิจจังของชีวิต ด้วยการใกล้ชิดวัฎจักรเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน…