กรณีแพทย์ปฏิเสธการรักษา
ว่ากันว่าในสงครามทุกครั้ง… ตั้งแต่อดีตกาล วิชาชีพแพทย์-พยาบาล เจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุข จะได้รับการยกเว้นจากสงคราม ห้ามยิง ห้ามทำร้าย เพราะวิชาชีพนี้ มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้คนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าเป็นมิตรหรือศัตรู
ในบทบัญญัติบังคับในสนธิสัญญาเจนีวา สัญญาเพื่อการปฏิบัติต่อเชลยศึก ก็กล่าวถึงเรื่องการรักษาไว้ด้วย ว่าต้องมีการรักษาเพื่อประโยชน์ศัตรูหรือเชลยศึก โดยไม่เลือกปฏิบัติ นี่เป็นหลักมนุษยธรรมสากล
ในทางการแพทย์ ไม่เพียงแต่เรื่องสงคราม แต่เรื่องอื่นๆ แพทย์ย่อมพึงปฏิบัติต่อผู้ป่วยทุกคนอย่างเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ เป็นหนึ่งในหลักการจริยศาสตร์ทางการแพทย์ คือ ความยุติธรรม (Justice) และยังมีข้ออื่นๆอีก เช่น สิทธิผู้ป่วย(Automy), การทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย(Beneficence), การไม่ทำร้ายผู้ป่วย(Nonmaleficence) เป็นต้น
ใคร่ขอยกตัวอย่างครับ
ในต่างประเทศ จะมีแพทย์อาสาขององค์กรเพื่อการกุศล และองค์กรเอกชน หลายองค์กร ที่ทำหน้าที่เข้าไปรักษาในพื้นที่สงคราม หรือพื้นที่ทุรกันดาร โดยเฉพาะถ้าพูดถึงองค์กรของสหประชาชาติ ทั้งส่วน WHO หรือ UNICEF ที่ช่วยเหลือเด็ก-เยาวชน ที่ได้รับภัยจากความยากจน ส่วนหนึ่งเป็นความพ่ายแพ้หลังสงคราม ไม่มีการเลือกปฏิบัติเชื้อชาติ วรรณะ ศาสนา แม้ว่าจะเป็นประเทศศัตรูก็ตาม
ในประเทศไทยของเรานั้น แพทย์อาสาฯ ช่วยเหลือผู้คน ก็มีมาก ข้าพเจ้าเคยเขียนเรื่องนี้ ในบทความ “ความสูญเสียของแผ่นดิน” กรณีแพทย์อาสา (พอ.สว.) และในภัยพิบัติต่างๆเราจะเห็นแพทย์อาสาสมัครช่วยเหลือผู้คนโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เช่นในตอนสึนามิ แพทย์จำนวนมากลงพื้นที่ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือในภัยน้ำท่วมต่างๆนั้น จะมีผู้ปิดทองหลังพระเหล่านี้ คอยทำเพื่อผู้ยากไร้ ผู้ได้รับความลำบาก โดยไม่เลือกปฏิบัติ
ใน กรณีที่เป็นสงครามของไทยเรา คงนึกถึง เหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ จะเห็นได้ว่า แพทย์ก็ทำการทุกฝ่าย ทั้งทหาร ตำรวจ ประชาชน รวมถึงผู้ก่อการร้ายด้วย และจะสังเกตว่าผู้ก่อการร้ายก็มักจะไม่โจมตี วางระเบิดโรงพยาบาล
•••
มากล่าวถึงกรณีที่เป็นข่าวกัน ความว่า แพทย์หลายท่าน ปฏิเสธการรักษาตำรวจ หลังเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา ใช้เหตุผลว่า เพราะตำรวจไม่ปฏิบัติหน้าที่พิทักษ์ราษฎร กลับทำร้าย เข่นฆ่าประชาชน
มีผู้ขอให้ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้ ต้องชี้แจงก่อนว่า ข้าพเจ้าเขียนบทความนี้ใน 2 ฐานะ คือ 1.ฐานะนักศึกษาแพทย์ 2.ฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง
การแสดงความคิดเห็นอย่างไร ก็ย่อมถูกวิจารณ์ และต่อว่า จากผู้ไม่ประสงค์ดี หรือผู้อยู่ฝั่งตรงกันข้าม แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคำวิจารณ์ใด ข้าพเจ้าขอขอบคุณมาก น้อมรับคำวิจารณ์เพื่อเป็นประโยชน์นะครับ
ความคิดเห็นครั้งนี้ ขอเรียนว่าเป็นการเลือกข้าง ข้างของความถูกต้อง ข้างของธรรม ที่เมื่อทำให้ใจเป็นกลางแล้ว
ข้าพเจ้าเห็นว่า วิชาชีพแพทย์ ไม่ควรถูกนำไปเชื่อมโยงกับทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมืองเลยเลย การแสดงออกทางสิทธิ เสรีภาพทางการเมือง เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล แต่เมื่อเกิดข่าวเช่นนี้เกิดขึ้น เกิดการแถลงข่าว สื่อสารมวลชนติดตาม ก็เป็นเรื่องใหญ่โตขึ้นมา
ข้าพเจ้าเห็นอาจารย์แพทย์ สถาบันต่างๆ ผู้ปฏิเสธการรักษา อาจารย์แพทย์เหล่านี้ ถูกสังคมบางส่วน ต่อว่า และคลาบแคลงใจในความเป็นแพทย์ ผู้ดำเนินรายการทางวิทยุบางท่าน (ที่เป็นหม่อม) ก็โจมตี กล่าวหา ต่างๆนานา บ้างร้องเรียนแพทยสภาให้มาตรวจสอบ
อาจารย์แพทย์บางท่าน ได้ชี้แจงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นไว้ว่า เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เหมือนเวลาพ่อแม่ขู่ลูกว่า “เดี๋ยวตีให้ตายเลย” แต่ก็ไม่เคยตีลูกให้ตายสักครั้ง ในกรณีนี้ก็เช่นกัน เป็นการย้ำเตือนตำรวจ ว่าอย่าทำร้ายประชาชน เป็นการย้ำเตือนไม่ให้ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา
ถ้าถามข้าพเจ้าว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหมาะสมไหม ก็คงมีคำตอบครับ
หลายคนถามว่า แพทย์สามารถปฏิเสธการรักษาได้หรือไม่
คำตอบคือ “ไม่ได้ครับ”
แม้ว่าจะเป็นฆาตกร ผู้ร้าย ขนาดไหน หรือเป็นเรื่องทางการเมือง จะปฏิเสธการรักษาคุณทักษิณ คุณพจมาน ชินวัตร หรือ บุคคลที่มีความคิดทางการเมืองตรงกันข้าม ก็ไม่ได้
อ่านประโยคข้างบนให้ดีนะครับ… พระราชบิดา หรือวงการแพทย์สากล ระบุไว้ชัดว่า การแพทย์ต้องเป็นการทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย
แต่… ถ้าหากแพทย์ผู้รักษาไม่พร้อมจริงๆ
แพทย์ สามารถ “เลือกที่จะส่งต่อไปยังแพทย์ท่านอื่น เพื่อการรักษาที่เหมาะสมกว่า” ได้
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ ทางแพทยสภาได้แถลงไว้ รวมถึง กล่าวว่า หากผู้ป่วยไม่ได้บาดเจ็บร้ายแรงถึงแก่ชีวิต หากแพทย์ท่านที่รับไว้รักษาตอนแรกไม่พร้อม ก็เลือกที่จะส่งต่อให้แพทย์ท่านอื่นรักษาได้
ดังนั้น ในกรณีข่าวที่เกิดขึ้นนั้น ถ้ามองผิวเผิน แพทย์ ถูกต่อว่าเป็นอย่างมาก ถูกสอบถามหาว่าจรรยาบรรณแพทย์อยู่ที่ไหน แต่ความจริงแพทย์ ข้าพเจ้าเชื่อว่า มีเหตุผลเพียงพอ และเป็นเรื่องส่วนบุคคลครับ
ถ้าเป็นแพทย์ ผู้ได้เห็นภาพเหตุการณ์ตำรวจเข่นฆ่าประชาชน ทำร้ายประชาชนคนธรรมดา ทำร้ายคนไม่มีทางสู้ จนบาดเจ็บ ล้มตาย ในจิตใจของแพทย์ท่านนั้นแม้ทำใจเป็นกลาง ก็อาจทำใจรับได้ลำบาก อาจมีภาวะบกพร่อง ไม่พร้อมทางจิตใจ มีความเสียใจ กลัดกลุ่ม อาลัย โศกเศร้า กับ สิ่งที่ตำรวจทำ คือนอกจากคุณตำรวจจะไม่ปฏิบัติหน้าที่รักษาประชาชนแล้ว กลับรับใช้ภาคการเมือง ทำร้ายประชาชน! ทำร้ายลูกของใครบางคน-ภรรยาสามีของของใครบางคน-พ่อแม่ของใครบางคน ยิงแพทย์ที่วิ่งเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วย ยิงทหารกาชาด ผิดหลักมนุษยธรรมสากลอย่างยิ่ง และที่สำคัญ ทำร้ายประชาชน พสกนิกร ลูกของแผ่นดิน
แพทย์ที่ไม่สามารถทำใจได้ อาจทำให้การรักษาคุณตำรวจอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ
ท่านผู้อ่านลองคิดนะครับ ว่าถ้าผู้ตาย ผู้บาดเจ็บเป็นญาติสนิท มิตรสหายเราดู ถ้าท่านเป็นแพทย์ท่านจะรักษาฆาตกรที่ฆ่าลูก ฆ่าพ่อคุณ รวมถึงทำร้ายเพื่อนแพทย์คุณด้วย คุณจะรักษาเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
อย่าลืมว่าแพทย์ก็เป็นคน มีความเสียใจ สลด โศกเศร้าได้ ซึ่งความเสียใจนี้ ส่งผลต่อการรักษาครับ
ข้าพเจ้าจึงเห็นควรว่า เรื่องนี้ ทางที่ถูก ก็คือว่า หากแพทย์ที่รับผู้ป่วยไว้รักษา ไม่พร้อมทางจิตใจ การปฏิบัตินั้น คือไม่ใช่ปฏิเสธการรักษา แต่ทว่า เป็นการเลือกที่จะส่งต่อไปให้แพทย์ท่านอื่นที่พร้อมรักษาจะดีกว่า
และที่สำคัญ ก็ล้วนเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยเอง
ดังนั้น ก็เหมือนเวลาที่คุณหมอป่วยเองนั่นแหละครับ แล้วจะให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ได้อย่างไร (ในกรณีนี้เป็นการป่วยทางใจ)
นอกจากนี้ ในกรุงเทพฯ ยังมีแพทย์ที่พร้อมรักษาคุณตำรวจอยู่อีกนะครับ คุณตำรวจที่บาดเจ็บจากการไปไล่ทุบตี ยิง ประชาชน สามารถเลือกได้!
แต่ในกรณีว่า ถ้าผู้ป่วยบาดเจ็บสาหัสมาจริงๆ แพทย์ก็ต้องรักษาครับ
ในขณะ ถ้าเป็นคนทั่วไป ไม่ใช่แพทย์ เห็นฆาตกร ก็สามารถเลือกที่จะไม่สนใจใยดีได้ โดยไม่ถูกสังคมต่อว่าขนาดนี้ ในหลายๆครั้งที่ฆาตรกรถูกประชาชนประชาทัณฑ์
ในวงการแพทย์เราไม่สามารถทำร้ายใครได้ครับ และไม่สามารถลงทัณฑ์ใครได้ด้วย แพทย์ต้องคงยัดมั่นในจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เพื่อธำรงไว้ซึ่งเกียรติ ศักดิ์ศรี และเพื่อ “ประชาชน” ไม่ใช่แค่เพื่อตำรวจ
ก็ตรงกันกับ บทบัญญัติบังคับในสนธิสัญญาเจนีวา สัญญาเพื่อการปฏิบัติต่อเชลยศึก ที่กล่าวถึงเรื่องการรักษาไว้ การรักษาเพื่อประโยชน์ศัตรูหรือเชลยศึก โดยไม่เลือกปฏิบัตินั้น ไม่ได้ระบุไว้ว่าต้องเจาะจงแพทย์ผู้รักษา เพราะหากแพทย์คนแรกที่รับไว้ ไม่พร้อมรักษา ก็ส่งต่อให้แพทย์ผู้อื่นที่พร้อมจะดีกว่า
และถูกต้องตามจริยศาสตร์ทางการแพทย์ ล้วนทำเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยที่มารักษา
ถ้าเป็นข้าพเจ้าเอง ด้วยความเศร้าสลด ไม่พร้อมที่จะให้การรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่คุณตำรวจ แม้จะเป็นผู้ป่วยคนอื่นๆก็ตาม ก็คงรบกวนอาจารย์แพทย์ท่านอื่นดูแลแทน นี่ถือเป็นการทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย ครับ
ดังนั้น เรื่องจากข่าวครั้งนี้ จะ ถูกจะผิด ขึ้นอยู่กับเจตนาของแพทย์ในข่าว หากแพทย์ผู้แถลงการณ์ ทำด้วยจิตใจอคติต่อตำรวจ คิดร้าย ประทุษร้าย ย่อมไม่เหมาะไม่ควร
แต่หากทำด้วยจิตใจมุ่งหวังดีเพื่อประโยชน์ของตำรวจที่บาดเจ็บ ก็ถือว่าถูกต้องแล้ว ลดความเสี่ยงในการรักษาที่ไม่เต็มศักยภาพ
รวมถึงเป็นการมุ่งหวังตักเตือนคุณตำรวจ ที่ทำร้ายประชาชน ให้เข้าใจถึงหน้าที่ของตน
นี่คือการที่แพทย์ไม่ใช่แค่เพียงรักษาผู้บาดเจ็บเท่านั้น ไม่ใช่แค่หุ่นยนต์รักษา แต่เป็นคนที่ดี ที่มุ่งหวังตักเตือนสังคม ตักเตือนผู้ทำร้ายประชาชน ให้เลิกกระทำการชั่วร้าย ทำร้ายมนุษย์อย่างผิดหลักมนุษยธรรม
เป็นการรักษาสังคม ไปด้วยในตัว น่ายกย่อง สรรเสริญ…
“ฉันไม่ต้องการให้พวกเธอเป็นเพียงหมอเท่านั้น แต่ฉันต้องการให้พวกเธอมีความเป็นมนุษย์ด้วย”
พระราชดำรัส สมเด็จพระราชบิดา